ใครจะหยุด ‘ปูติน’ ได้ ?

ในที่สุดรัสเซียก็บุกยูเครนตามที่ชาติตะวันตกกล่าวหา คำถามสำคัญในขณะนี้คือ จะสามารถหยุดการกระทำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้หรือไม่ ?


หลังจากที่ได้ทำท่ามานานหลายเดือน ในที่สุดรัสเซียก็บุกยูเครนตามที่ชาติตะวันตกกล่าวหา คำถามสำคัญในขณะนี้คือ จะสามารถหยุดการกระทำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้หรือไม่ ?

ปูตินประกาศโจมตียูเครนเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยอ้างว่า เป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” เพื่อทำให้ยูเครน “ปลอดทหารและระบอบนาซีใหม่” แม้ปูตินจะพยายามบอกว่า ไม่ได้มีแผนการที่จะเข้ายึดครองยูเครน แต่หลังจากบุกเข้ายูเครนไม่เกินสี่วัน ก็สร้างความตกใจและ “ช็อก” ใหม่เมื่อมีรายงานว่า ได้สั่งให้ “หน่วยรบนิวเคลียร์” เตรียมพร้อมสูงสุด และจนถึงเมื่อวานนี้ ก็มีรายงานว่ากองกำลังรัสเซียยังคงมุ่งหน้าสู่กรุงเคียฟและมีการยิงถล่มในหลาย ๆ เมือง

การยอมรับของปูตินให้ภูมิภาคดอนบาสส์ที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครนเป็นรัฐอิสระ เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติยูเครน แต่ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย มันรวดเร็วและยิ่งใหญ่กว่าที่หลายคนกลัวและคาดการณ์ไว้มาก

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป้าหมายของรัฐบาลมอสโกในการปฏิบัติการทางทหารในครั้งนี้ น่าจะต้องการบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในยูเครนและจัดตั้งรัฐบาลเคียฟที่สนับสนุนรัสเซีย

เฮนรี โรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยมหภาคทั่วโลกของยูเรเซีย กรุ๊ป กล่าวว่า จากคำปราศรัยของปูตินและการโจมตีระลอกแรก เป็นที่แน่ชัดว่าโลกอยู่ในสถานการณ์ที่ ‘รุนแรง’ รัสเซียทำการโจมตีครั้งใหญ่ทั่วยูเครน และตั้งเป้าที่จะล้มล้างรัฐบาลเคียฟด้วยวิธีการทางทหาร แม้ว่าปูตินได้อ้างในทางตรงกันข้าม แต่มีความเป็นไปได้ที่ กองกำลังรัสเซียจะยึดครองดินแดนบางส่วนของยูเครน

การบุกโจมตีของรัสเซีย ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกสั่นสะเทือน ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะลุเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 และราคาทองคำพุ่งสูงสุดในรอบหลายเดือนเกิน 1,900 ดอลลาร์

มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและชาติอื่น ๆ ในเอเชียที่ออกมาครั้งแล้วครั้งเล่านับตั้งแต่ปูตินสั่งบุกยูเครน ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอที่จะยับยั้งปูตินได้  ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลงโทษต่อปูตินเอง มหาเศรษฐีที่มีสายสัมพันธ์กับปูติน สถาบันการเงิน ตราสารหนี้ของรัฐบาลรัสเซีย การขับธนาคารรัสเซียออกจากระบบชำระเงินโลก SWIFT และการห้ามธนาคารกลางรัสเซียใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ

เป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดว่า ในครั้งนี้ชาติใหญ่ ๆ ทั่วโลกกลมเกลียวกันมากกว่าที่เคยมีที่จะคว่ำบาตรรัสเซียแม้ว่าในตอนแรกยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันบ้าง ยกเว้นเพียงจีนที่รู้ ๆ กันอยู่ว่า ต้องเข้าข้างฝ่ายตรงข้ามสหรัฐฯ อยู่แล้ว

ผลกระทบที่ได้ชัดเจนทันตาจากมาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ คือ ค่าเงินรูเบิลอ่อนตัวลงเกือบ 30% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จนธนาคารกลางรัสเซียต้องขึ้นดอกเบี้ยเป็น 20% และห้ามนักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์รัสเซีย ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจรัสเซียอาจจะพังลงได้

อย่างไรก็ตาม จนถึงวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีทีท่าว่า ปูตินจะยับยั้งความบ้าบิ่น และสถานการณ์การสู้รบในยูเครนยังรุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง  และการเจรจาเมื่อวันจันทร์ที่ชายแดนเบลารุสก็ล้มเหลว แถมยูเครนยังท้าทายปูตินด้วยการขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกสภาพยุโรป (อียู) อีก

จึงยังไม่อาจรีบด่วนสรุปได้ว่า  มาตรการคว่ำบาตรจะยับยั้งวิกฤติในยูเครน และบีบให้ปูตินมาเจรจาทางการทูตได้

นอกจากนี้ เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มาตรการที่ได้ออกมาหลังจากที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียเมื่อปี 2557 ไม่สามารถยับยั้ง “ความบ้าบิ่น” ของปูตินได้แม้แต่น้อย จนต่อเนื่องมาสู่วิกฤติในครั้งนี้

ทิมโมธี่ แอช นักกลยุทธ์อาวุโสด้านรัฐบาลในตลาดเกิดใหม่ของบริษัท บลูเบย์ แอสเซ็ต แมเนจเมนต์ กล่าวว่า ปูตินกำลังติดตั้ง “ม่านเหล็กใหม่” ทั่วยุโรปเกิดใหม่ และเราทุกคนไม่ปลอดภัยเพราะการกระทำเช่นนี้

บทวิเคราะห์ของยูเรเซียกรุ๊ป ระบุว่าการโจมตีครั้งล่าสุดของรัสเซียและการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก จะ “ส่งผลกระทบอย่างกว้างไกลต่อเศรษฐกิจโลก” และ “การรุกรานของรัสเซียจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามเย็น” ใหม่ ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ทำให้เกิดความแตกแยก ระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและมอสโกที่จะทำทุกอย่าง ยกเว้น “การทูตพื้นฐาน” และยังจะทำให้พรมแดนยุโรปกลับมาสร้างกำลังทหารขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสมาชิกนาโตที่ตั้งอยู่ตั้งแต่ในแถบทะเลบอลติก จนถึงทะเลดำ

ในขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่ารัสเซียมีกำลังทหารเพียงพอที่จะครอบครองยูเครนได้หรือไม่ แม้ว่ามีกำลังมากกว่ายูเครนหลายเท่าในทุกด้าน

แอนเดรียส เทอร์ซา ปรึกษาด้านยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกของบริษัท เทนีโอ อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า การเพิ่มกำลังทหารของรัสเซียจะมีนัยสำคัญ แต่ก็มองว่า จำนวนทหารรัสเซียยังคงไม่เพียงพอที่จะครอบครองและยึดครองดินแดนส่วนใหญ่ของยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่ามีการต่อต้านที่แข็งแกร่งมากในท้องถิ่น

เป้าหมายที่เป็นไปได้ของรัฐบาลมอสโกคือการบังคับให้ยูเครนยอมรับข้อเรียกร้องของรัสเซีย ซึ่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ปูตินได้ร่างข้อเรียกร้องใหม่ 4 ข้อ คือ 1.รับรองไครเมียและเซวาสโทพอลเป็นดินแดนของรัสเซีย 2.การยกเลิกแผนการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) 3.ทำให้ประเทศปลอดทหาร 4.เจรจาสถานการณ์ในดอนบาสส์

เพื่อให้เป้าหมายมีความคืบหน้า รัสเซียอาจใช้ปฏิบัติการหลายอย่าง เช่น ปฏิบัติการทางทหารที่มุ่งลดความสามารถในการป้องกันประเทศของยูเครน ทำให้มีคนบาดเจ็บจำนวนมาก และทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญโดยหวังว่ายูเครนจะยอมจำนนอย่างรวดเร็ว

รัฐบาลมอสโก อาจพยายามลองใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพ และทำลายขวัญของยูเครน เช่น มีการก่อการร้ายในวงกว้าง การลอบสังหารทางการเมือง การโจมตีทางไซเบอร์ต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการกระทำอื่น ๆ ที่มุ่งสร้างความโกลาหลและบ่อนทำลายความสามารถของยูเครน และความเต็มใจที่จะปกป้องตัวเอง

วิกฤติยูเครนในครั้งนี้ อาจจะเป็นหนังยาวที่ยากจะจบ และยากจะหา “อัศวินขี่ม้าขาว” มาจูงใจปูตินให้ยับยั้งชั่งใจและถอนกำลังออกจากยูเครนได้

Back to top button