อันดับโลกลดพลวัต2015

ถึงตอนนี้นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะตาสว่างมากขึ้น เมื่อเห็นผลการจัดอันดับประเทศที่นักธุรกิจระดับโลก จากการจัดของธนาคารโลกล่าสุด


ถึงตอนนี้นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะตาสว่างมากขึ้น เมื่อเห็นผลการจัดอันดับประเทศที่นักธุรกิจระดับโลก จากการจัดของธนาคารโลกล่าสุด

ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ได้รายงานผลการวิจัยประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ (ดูอิ้ง บิสซิเนส) ปรากฏว่า ไทยได้อันดับที่ 49 ในปี 2559 ซึ่งลดลงจากปี 2558 ที่ได้อันดับ 46 จากทั้งหมด 189 ประเทศ

แม้อันดับจะลดลง แต่ก็ไม่ถือว่าเลวร้ายเกินสมควร เพราะตราบใดที่ ไทยยังติด 1 ใน 50 ประเทศแรก ที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน ก็ยังคงถือว่ายังน่าสนใจต่อไป

เพียงแต่ไม่ควรนำฐานะของไทยไปเทียบกับสิงคโปร์ ที่ยังคงมีอันดับน่าเชื่อถือว่า เป็นอันดับ 1 ของโลก ติดต่อกันเป็นปีที่ 10 โดดเด่นต่อไป

 ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ที่ติด 20 อันดับแรก คือ นิวซีแลนด์ อันดับ 2 เกาหลีใต้ อันดับ 4 เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อันดับ 5 ไต้หวัน อันดับ 11 ออสเตรเลีย อันดับ 13 มาเลเซีย อันดับ 18 จีน อันดับ 84 ฟิลิปปินส์ อันดับ 103 และอินโดนีเซีย อันดับ 109 เป็นต้น

                ประเด็นที่น่าสนมากกว่า อยู่ตรงรายละเอียด เพราะรายงานชี้ชัดว่า ตัวชี้วัดของไทยส่วนใหญ่ลดลงในเรื่องหลักๆ คือ

–          ขั้นตอนความสะดวกในการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

–          การเข้าถึงข้อมูลเครดิตลูกค้าของสถาบันการเงินของไทย ได้คะแนน 0 ถือว่าต่ำที่สุด

–          การขอใบอนุญาตจัดตั้งธุรกิจ ไทยยังใช้เวลามากกว่า 20 วัน ขณะที่ประเทศอื่นใช้เวลาน้อยกว่านั้น

–          การขอใบอนุญาตการก่อสร้าง

–          กระบวนการยุติธรรมของเอสเอ็มอีเมื่อมีปัญหา ยังใช้เวลานาน และไม่แน่ใจว่าจะได้รับความยุติธรรม จึงยังไม่สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

ในส่วนของการลงทุนในประเทศไทยนั้น ธนาคารโลกยังยืนยันว่า ยังเป็นประเทศที่น่าสนใจอยู่ น่าลงทุน โดยสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจของปีก่อนกับปีนี้ก็เหมือนเดิม แต่ที่น่าสนใจก็เพราะว่า ไทยหยุดนิ่ง ไม่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น

ตรงกันข้าม  ประเทศอื่นๆ ได้ผ่านกระบวนการปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ และเงื่อนไขที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ จึงทำให้ได้รับการปรับอันดับที่ดีขึ้นกว่าไทย

ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียได้นำระบบการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม อำนวยความสะดวกในการชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์  รวมทั้งล่าสุด ออกชุดมาตรการจูงใจในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างมาก ซึ่งได้รับความชื่นชมอย่างโดดเด่น

ส่วนเวียดนามนั้น ผู้ขอเงินกู้ สามารถตรวจสอบเครดิตของตนเองได้ ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กได้รับโอกาสให้ขอกู้ง่ายขึ้น เพราะสถาบันการเงินประเมินข้อมูลสะดวกขึ้น

สำหรับไทยนั้นยังล้าหลังเรื่องการขอกู้เงิน ไม่มีข้อมูลเครดิตที่เป็นบัญชีรวมของทุกคนในประเทศ การที่เอสเอ็มอีจะขอกู้เงินเป็นเรื่องยาก หากกู้ไม่ได้ก็ไม่ชี้แจงว่าเพราะเหตุใดบ้าง เป็นต้น

ข้อมูลของธนาคารโลกนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราได้เห็น รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปาฐกถาภายใต้กรอบคิดแบบเดียวกับฟิลลิป คอตเลอร์ บ่อยครั้ง แต่คำถามก็คือ ทั้งที่รู้ถึงปัญหาเหล่านี้ ทำไมมาตรการแก้ปัญหาจุดบกพร่องของเศรษฐกิจไทยที่ทำควรเกิดขึ้น ไม่บรรลุผลโดยเร็ว

คำตอบอยู่ที่พัฒนาการทางการเมือง แต่พูดถึงเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ก้าวล่วงเกินเลยเรื่องของเศรษฐกิจที่แม้ธนาคารโลกก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ นอกจากให้ความเห็นซ้ำซากเพิ่มเติมต่อไปเท่านั้น

การหยุดนิ่งของพัฒนาการ คือการถดถอย หากคู่แข่งขันรุกคืบหน้าไปได้รวดเร็วกว่า

Back to top button