ผลกระทบ ‘วิกฤตยูเครน’ รุนแรงเกินคาด

ได้มีการคาดการณ์ผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียต่อเศรษฐกิจโลกในตอนแรกว่า ไม่น่าจะหนักหนาสากรรจ์เท่ากับเมื่อตอนเกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2551


ได้มีการคาดการณ์ผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียต่อเศรษฐกิจโลกในตอนแรกว่า ไม่น่าจะหนักหนาสากรรจ์เท่ากับเมื่อตอนเกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2551 อย่างเก่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งใหญ่สุดในโลก จะโตช้าลงโดยมีเงินเฟ้อสูงขึ้น ส่วนเศรษฐกิจยุโรปก็ยังไม่ถึงกับเข้าสู่ภาวะถดถอยเสียทีเดียว และเศรษฐกิจรัสเซียจะโตลดลงเป็นเลขสองหลัก

แต่พอสถานการณ์ยืดเยื้อเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง และมีข่าวว่า สหรัฐฯ และยุโรปกำลังพิจารณาห้ามรัสเซียส่งออกน้ำมัน และรัสเซียขู่ตอบโต้ด้วยการปิดท่อส่งก๊าซไปยังยุโรปหากชาติตะวันตกระงับการนำเข้าน้ำมัน พร้อมทั้งเตือนว่า ราคาน้ำมันอาจพุ่งถึง 300 ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ ได้พุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี และตลาดหุ้นทั่วโลกก็ดิ่งระเนระนาดตั้งแต่วันจันทร์ จึงเกิดความสับสนและสงสัยทันทีว่า หรือวิกฤตยูเครนจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรุนแรงกว่าที่คาดไว้

จากการคาดการณ์ของ CNBC Rapid Update จีดีพีสหรัฐฯ จะโตขึ้น 3.2% ในปีนี้ ลดลงเพียงเล็กน้อย 0.3% จากการคาดการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังคงเติบโตเหนือแนวโน้มเนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวจากโอมิครอนต่อเนื่องและการติดเชื้อของโอมิครอนเริ่มลดลง

ในขณะที่จนถึงเที่ยงเมื่อวานนี้ ยังไม่รู้ว่าสหรัฐฯ และยุโรปจะตัดน้ำมันรัสเซียออกจากตลาดโลกจริงหรือไม่ แต่รองนายกรัฐมนตรี อเล็กซานเดอร์ โนวัค ของรัสเซียออกมาเตือนก่อนเลยว่า การปฏิเสธน้ำมันรัสเซียจะนำหายนะมาสู่ตลาดโลก และราคาน้ำมันอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจนสูงกว่า 300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า การปลดน้ำมันรัสเซียออกจากอุปทานโลกโดยสิ้นเชิง ย่อมหมายถึงว่าจะมีผลกระทบในทางลบมากขึ้น

เจพี มอร์แกนระบุว่า ผลที่ตามมาจากการระงับการส่งออกน้ำมันของรัสเซียไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีจำนวน 4.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะสะเทือนอารมณ์มาก และจะก่อให้เกิดวิกฤตที่มีผลกระทบต่อการเติบโตทั่วโลก

รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกรวมกันประมาณ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 7% ของอุปทานทั่วโลก การห้ามส่งออกน้ำมันรัสเซียไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะทำให้ราคาน้ำมันที่สูงอยู่แล้วยิ่งสูงหนักขึ้นไปอีก และเสี่ยงจะเกิดวิกฤตเงินเฟ้อ

ในขณะที่รัฐบาลตะวันตกยังไม่ได้คว่ำบาตรภาคพลังงานของรัสเซียโดยตรง แต่ลูกค้าบางรายก็หลีกเลี่ยงน้ำมันรัสเซียไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เข้าไปพัวพันกับปัญหาทางกฎหมายในภายหลัง

เจพี มอร์แกนคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 185 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในสิ้นปี 2565 หากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียหยุดชะงักเป็นเวลานาน ขณะที่นักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกากล่าวว่า หากมีการระงับการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย น้ำมันอาจขาดแคลน 5 ล้านบาร์เรล หรือมากกว่านั้น และนั่นหมายความว่าราคาน้ำมันอาจพุ่งเป็นสองเท่าจาก 100 ดอลลาร์ เป็น 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่สำรวจโดยรอยเตอร์ คาดว่า ราคาเฉลี่ยน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี จะต่ำกว่า 100 ดอลลาร์

ครั้งสุดท้ายที่ราคาน้ำมันอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์คือในปี 2557 และระดับราคาที่ได้แตะไปเมื่อวันจันทร์ก็ใกล้ระดับสูงสุดตลอดกาลที่เคยทำไว้ 147 ดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม 2551 อยู่รอมร่อ ซึ่งถือว่าสูงชันจากสองปีที่แล้วมากเมื่ออุปสงค์ต่ำมากเพราะไวรัสโคโรนาระบาด จนทำให้น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสมีราคาต่ำกว่า 0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเนื่องจากผู้ขายต้องยอมขาดทุนเพื่อกำจัดน้ำมันที่มีเป็นจำนวนมากจนไม่มีที่เก็บ

เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติก็แตะระดับสูงสุดตลอดกาล มีการคาดการณ์ว่าต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อสูงกว่า 7% ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของครัวเรือน

นอกจากจะเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันและก๊าซรายใหญ่แล้ว รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกธัญพืชและปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ผลิตพาลาเดียม นิกเกิล ถ่านหิน และเหล็กกล้ารายใหญ่ด้วย มาตรการที่จะตัดเศรษฐกิจรัสเซียออกจากระบบการค้า จะส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม และทำให้เกิดความกลัวเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารทั่วโลกเช่นกัน

การห้ามซื้อขายน้ำมันรัสเซียจะยิ่งชะลอการฟื้นตัวจากโควิดที่เพิ่งเริ่มต้นได้ดี นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ผลกระทบหนักสุดจะอยู่กับยุโรป โดยบาร์เคลย์คาดว่าการเติบโตในยุโรปปีนี้จะเหลือเพียง 3.5% จากที่คาดไว้ 4.1% ในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่เจพี มอร์แกนลดการเติบโตของยุโรปในปีนี้เกือบ 1%  เหลือโต 3.2% โดยคาดว่าไตรมาสสองจะไม่โตเลย ส่วน ธนาคารกลางยุโรปคำนวณในเบื้องต้นว่า สงครามยูเครนอาจลดการเติบโตของยูโรโซนประมาณ 0.3-0.4% ในปีนี้ และอาจจะลดลงถึง 1% ในกรณีที่เกิดวิกฤตรุนแรง

ส่วนในสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐประเมินว่า ราคาน้ำมันขึ้นทุก 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะลดการเติบโตประมาณ 0.1% แม้ว่าประมาณการของภาคเอกชนจะมีผลกระทบน้อยกว่านี้

สำหรับเศรษฐกิจรัสเซีย น่าจะได้รับความเสียหายโดยทันทีมาก เจพี มอร์แกน ประเมินว่าจะหดตัวประมาณ 12.5%ขณะที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) คาดว่า จีดีพีรัสเซียจะหดตัวถึง 15% มากกว่าที่หดตัวในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกสองเท่า และความเสี่ยงที่เอนไปในทางลบ จะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ราคาพลังงานอาจจะสูงขึ้นต่อไป แต่ก็มีบางคนคาดการณ์เช่นกันว่า การดีดตัวที่ได้เห็นในช่วงไม่กี่วันมานี้ จะลดลงภายในสองสามเดือน ซึ่งหมายถึงว่าจะมีผลกระทบในระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ต่อการเติบโตและเงินเฟ้อ

ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ยังมองพัฒนาการที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินในขณะนี้ว่า ยังไม่ถือว่า เกิด “ความตื่นตระหนก” เหมือนเมื่อเกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2551 เนื่องจากขณะนี้มีเงินทุนในระบบการเงินโลกมากขึ้น และเงินทุนจากรัสเซียก็ไม่ได้มาก และในขณะนี้ยังมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น

ตามความเห็นนักวิเคราะห์ สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดขณะนี้เป็น “ความสับสน” มากกว่า “ความตื่นตระหนก” โดยมองว่า ในขณะที่กำลังมีการประเมินว่า มาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดว่าจะมีผลต่อรัสเซียและเศรษฐกิจโลกอย่างไร มันก็มีแนวโน้มที่แสดงให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า สถานการณ์กำลังมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าความสูญเสียกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

อย่างไรก็ดี แรงเทขายที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ วิกฤตที่ผ่านมา มักมีโอกาสและผลตอบแทนให้กับอุตสาหกรรมบางกลุ่ม อยู่เสมอ  และในขณะนี้ มีการมองว่า อุตสาหกรรม “พลังงานทางเลือก” ก็น่าจะได้อานิสงส์อยู่ไม่น้อย สำหรับบ้านเรา ข้อมูลของรอยเตอร์ที่ชี้ว่า วิกฤตยูเครนทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น และมีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในดือนกุมภาพันธ์สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ก็น่าจะช่วยให้ “ความสับสน” กลายเป็นความ “ใจชื้น” ขึ้นได้ไม่น้อย แม้ว่าวิกฤตยูเครนที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบรุนแรงกว่าที่คาดไว้ก็ตาม

Back to top button