B (หนี) โลจิสติกส์

หุ้นกลุ่มโลจิสติกส์เปิดงบปี 2564 ออกมาโตระเบิดเถิดเทิงทุกตัว แต่มาสะดุดตาที่บริษัท บี จิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ B ซึ่งดูผ่าน ๆ เหมือนจะดีนะ พลิกมามีกำไรสุทธิตั้ง 129 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขาดทุนสุทธิ 57 ล้านบาท...


หุ้นกลุ่มโลจิสติกส์เปิดงบปี 2564 ออกมาโตระเบิดเถิดเทิงทุกตัว แต่มาสะดุดตาที่บริษัท บี จิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ B ซึ่งดูผ่าน ๆ เหมือนจะดีนะ พลิกมามีกำไรสุทธิตั้ง 129 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขาดทุนสุทธิ 57 ล้านบาท…

เป็นการหยุดยั้งภาวะขาดทุนเรื้อรังในรอบ 3 ปีได้ซะที..!!

แต่พอดูอีกที…อ้าว กำไรที่เห็นไม่ใช่กำไรจากการดำเนินงานนี่นา…แต่เป็นกำไรพิเศษจากการขายทรัพย์สินถาวรและสิทธิการเช่าท่าเรือจำนวน 113 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

เลยทำให้ตัวเลขบรรทัดสุดท้ายของ B ดูสวยหรูอย่างที่เห็น…

แต่ดูแล้วสวนทางกับรายได้จากการให้บริการ ซึ่งเป็นรายได้หลัก ลดลงไปตั้ง 36% เหลือแค่ 216 ล้านบาท สาเหตุมาจากการเลิกประกอบธุรกิจท่าเรือ รวมถึงได้รับผลกระทบจากโควิด

ก็น่าแปลก B ซึ่งทำธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ตั้งแต่ท่าเทียบเรือ โรงพักสินค้า การขนถ่ายสินค้า ขนส่งทางถนน บริการเช่ารถเครน บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และบริการพิธีการศุลกากร…ขณะที่สิทธิการเช่าท่าเทียบเรือ น่าจะเป็นเส้นเลือดใหญ่ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ อย่างน้อย ๆ ก็ Security ในแง่ของสินค้ามีท่าเทียบเรือแน่ ๆ

แล้วทำไม B ถึงตัดขายเส้นเลือดใหญ่ทิ้งเสียล่ะ..? อันนี้น่าคิด

ขณะที่ ถ้าหักรายการพิเศษนี้ออกไป จะเหลือกำไรสุทธิแค่ 16 ล้านบาทเท่านั้น..!! ไม่ได้สวยหรูอย่างที่เห็นหรอกนะ

เข้าทำนองกำไรพรางตาไปอีกราย..!?

เอ๊ะ…หรือโลจิสติกส์จะไม่ใช่ทางของ B หรือเปล่า..? จึงเริ่มเห็น B แหกกรอบจากโลจิสติกส์สู่ธุรกิจอื่น ๆ มากขึ้น

ล่าสุดก็รุกไปสู่พลังงานทางเลือก ด้วยการเข้าไปลงทุนในบริษัท เดอะ เมกะวัตต์ จํากัด (เมกะวัตต์) ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 เพื่อลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดย B ได้เข้าไปซื้อหุ้นเมกะวัตต์ต่อเนื่องถึง 4 ครั้งด้วยกัน เริ่มจากมติบอร์ดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2563 ให้ซื้อหุ้น 1,250,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 125 ล้านบาท จากนั้นวันที่ 9 เม.ย. 2564 มติบอร์ดให้ซื้อหุ้นเพิ่มอีก 1,250,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท เป็นเงินลงทุน 125 ล้านบาท

ไม่จบแค่นั้น มติบอร์ดเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ให้เข้าลงทุนเพิ่มอีก 2,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท เป็นเงินลงทุน 250 ล้านบาท และล่าสุดมติบอร์ดเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 ให้เข้าลงทุนในเมกะวัตต์ เพิ่มอีก 3,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 350 ล้านบาท

ส่งผลให้ B เข้าลงทุนในเมกะวัตต์รวมจำนวน 8,500,000 หุ้น คิดเป็นเงินลงทุน 850 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34%

ว่าแต่ทำไมไม่ลงทุนครั้งเดียวให้จบไปเลยนะ..หรือตอนนั้นยังไม่แน่ใจก็เลยค่อย ๆ เพิ่มพอร์ตลงทุนแบบขยักขย่อนอย่างที่เห็น..!!

ถ้าไปดูแวลูของเมกะวัตต์ ซึ่งมีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการโซลาร์ฟาร์มของบริษัท สยามโซล่าร์ เจนเนอเรชั่น จํากัด (SSG) ตั้งอยู่ที่ อ.บําเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ รวม 27 เมกะวัตต์, โครงการโซลาร์ฟาร์มของบริษัท จี เอ พาวเวอร์ ไพรเวท ลิมิเต็ด ที่เวียดนามรวม 29 เมกะวัตต์, โครงการโซลาร์ฟาร์มของบริษัท convalt Mandalay solar PTE Ltd ตั้งอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา จำนวน 360 เมกะวัตต์

นอกจากนั้น เมกะวัตต์ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ เช่น โครงการบริหารจัดการขยะ เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์อื่น และเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า การขุดคริปโตเคอร์เรนซี จากการใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน และโครงการโซลาร์รูฟท็อปในประเทศ…ก็พอเข้าใจได้

แต่ก็ไม่รู้ว่า การรุกเข้าสู่พลังงานทางเลือกครั้งนี้ จะช่วยเสริมส่ง B ได้มากน้อยแค่ไหน..? ดีกว่าธุรกิจเดิมอย่างไร..?

หวังแค่ว่า ต่อไปจะไม่เห็น B กลับไปขาดทุนให้ผู้ถือหุ้นชอกช้ำระกำใจอีกก็แล้วกัน…

…อิ อิ อิ…

Back to top button