BAM เอเอ็มซีอนาคตไกล

ช่วงปี 64 BAM ซึ่งทำธุรกิจบริหารหนี้ AMC ถูกมองว่าผลประกอบการจะออกมาไม่ดี เนื่องจากสินทรัพย์หลักเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน


คุณค่าบริษัท

ช่วงปี 2564 บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ซึ่งทำธุรกิจบริหารหนี้ AMC ถูกมองว่าผลประกอบการจะออกมาไม่ดี เนื่องจากสินทรัพย์หลักเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งผูกอยู่กับหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกรมบังคับคดี ทำให้ช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ไม่สามารถจัดประมูลหลักประกันเพื่อขายทอดตลาดได้ ซึ่งแม้จะปรับตัวด้วยการหันมาจัดประมูลในรูปแบบออนไลน์ แต่ก็มีข้อจำกัด เนื่องจากสินทรัพย์บางรายการ เช่น บ้าน ที่ดิน ต้องเข้าไปดูสถานที่จริง

แต่ปรากฏว่า เปิดงบไตรมาส 4/2564 ออกมากลับทำได้ดี มีกำไรสุทธิ 986 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาส 4/2563  และเพิ่มขึ้น 71% จากไตรมาส 3/2564 โดยกำไรดังกล่าวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ถึง 24%

สาเหตุมาจากสามารถขายสินทรัพย์รอการขาย หรือ NPA ได้สูงกว่าคาด ขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายสํารองปรับตัวลงตามรายได้ดอกเบี้ยค้างรับที่ลดลง ส่งผลให้กําไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 2,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 1,840 ล้านบาท

โดยมองว่า BAM ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว นับจากนี้จะเข้าสู่โหมดของการเติบโตอีกครั้ง ปี 2565 คาดจะโตต่อ ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และการทำตลาด NPA เชิงรุก ทั้งการออกบูธทำโปรโมชั่นด้านราคาการขายผ่านออนไลน์และการปรับปรุงทรัพย์ก่อนขาย อีกทั้งยังมีความพร้อมในด้านของเงินทุน โดยในปี 2564 สามารถเก็บเงินสดได้ 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการซื้อสินทรัพย์ NPA และ NPL เข้ามาบริหาร

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน (Joint Venture) ระหว่างธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรธนาคาร 6 แห่ง และ AMC อีก  1 แห่ง ที่จะมาช่วยเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม และส่วนแบ่งกำไรในระยะยาว ซึ่งคาดจะได้ข้อสรุปภายในครึ่งแรกของปีนี้

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินในปี 2565 BAM จะมีกำไรสุทธิฟื้นตัวต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 3,421 ล้านบาท เติบโต 32% จากปีก่อน โดยคาดการฟื้นตัวจะมาจากทั้งกระแสเงินสดจาก NPL และ NPA แต่จะเห็นการฟื้นตัวจาก NPL มากกว่า เนื่องจากคาดโอกาสที่กรมบังคับคดีจะหยุดดำเนินงานตามการปิดเมืองมีน้อยลง เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีการหยุดดำเนินงานหลายเดือน ซึ่งจะทำให้การขายทรัพย์ผ่านกรมบังคับคดีกลับมาดีขึ้นมาก

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น BAM ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 26.85 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 19.24 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายสูงกว่าตลาด เช่นเดียวกับ P/BV ที่ระดับ 1.63 เท่า ถือว่าใกล้เคียงค่าเฉลี่ยตลาดที่ปัจจุบันซื้อขาย P/BV เฉลี่ยที่ 1.70 เท่า โดยมี IAA Consensus อยู่ที่ 25.00 บาท

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่

  1. กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1,480,000,000 หุ้น 45.79%
  2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 139,986,682 หุ้น 4.33%
  3. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 64,616,125 หุ้น 2.00%
  4. กองทุนเปิด เค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผล 34,881,300 หุ้น 1.08%
  5. นายนเรศ งามอภิชน 31,300,000 หุ้น 0.97%

รายชื่อกรรมการ

  1. นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ
  2. นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร, รองประธานกรรมการบริษัท
  3. นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ
  4. นายสมพร มูลศรีแก้ว ผู้จัดการใหญ่
  5. นายสาทร โตโพธิ์ไทย กรรมการ
  6. นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการ
  7. นายธิบดี วัฒนกุล กรรมการ
  8. นายวสันต์ เทียนหอม กรรมการอิสระ, ประธานกรรมการตรวจสอบ
  9. นายยศ กิมสวัสดิ์ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  10. นางมณีรัตน์ ศรีเสาวชาติ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  11. นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ

Back to top button