PTG ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ

จากนโยบายปรับสูตรน้ำมันดีเซลของภาครัฐ กลายเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของ PTG อย่างมีนัยสำคัญ


คุณค่าบริษัท

จากนโยบายปรับสูตรน้ำมันดีเซลของภาครัฐ เพื่อหวังตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร บวกกับการปรับลดค่าการตลาด กลายเป็น 2 ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนได้จากงบงวดไตรมาส 4/2564 ที่มีตัวเลขขาดทุน 80 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 676 ล้านบาท

สาเหตุหลักมาจากค่าการตลาดที่หายไปกว่า 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทไม่สามารถปรับราคาขายปลีกหน้าปั๊มให้เหมาะสมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะต้องสนองนโยบายภาครัฐในการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ PTG พยายามปรับตัวด้วยการประกาศทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากน้ำมัน (Oil) และธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมัน (Non-Oil) เป็นธุรกิจ Co-Create Ecosystem เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้น 8 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจน้ำมันและแก๊ส 2. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 3. ธุรกิจ Retail แบบที่เป็น Offline to Online 4. ธุรกิจขับเคลื่อนยานยนต์โลจิสติกส์และซัพพลายเชน 5. ธุรกิจซ่อมบำรุง 6. ธุรกิจสุขภาพ ทั้งกายและใจ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย 7. ธุรกิจ Digital Platform ทั้งการเงิน และ Lifestyle และ 8. พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด

โดย PTG ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของอัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจ Non-oil เพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2569 จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% และคาดว่าในอีก 5 ปีจากนี้ จะสามารถสร้าง Touchpoint ให้เพิ่มขึ้นเป็น 268,202 Touchpoint ได้ และมีจำนวนสมาชิก 30 ล้านสมาชิก ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จากปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 17 ล้านสมาชิก ซึ่งในปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านสมาชิก

ขณะที่เป้าหมายในปีนี้คาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะอยู่ที่ประมาณ 15-20% โดยคาดว่าปริมาณการจำหน่ายน้ำมันจะเติบโต 8-12% จากปีก่อนที่มีปริมาณจำหน่ายน้ำมันอยู่ที่ 5,020 ล้านลิตร ส่วนอัตราการเติบโตของปริมาณการจำหน่ายแก๊ส LPG จะเติบโต 50-60% จากปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายไปสู่ธุรกิจนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) โดยจับมือกับพันธมิตรในประเทศ จำนวน 2 ราย จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อบริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น PTG ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 22.40  เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 19-20  เท่า ถือว่าราคาซื้อขายใกล้เคียงตลาด แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดู P/BV ที่ระดับ 2.79  เท่า ก็อาจสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ส่วนใหญ่ P/BV จะอยู่ที่ระดับ 1–2 เท่า โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 16.84 บาท จากราคาต่ำสุด 15.20 บาท และราคาสูงสุด 18.20 บาท

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่

  1. บริษัท รัชกิจ โฮลดิ้ง จำกัด 419,504,000 หุ้น 25.12%
  2. นายพงษ์ศักดิ์ วชิรศักดิ์พานิช 100,300,000 หุ้น 6.01%
  3. นางจรัสลักษณ์ นิธยานุรักษ์ 77,849,140 หุ้น 4.66%
  4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 44,343,470 หุ้น 2.66%
  5. นายวีรศักดิ์ วชิรศักดิ์พานิช 42,743,600 หุ้น 2.56%

รายชื่อกรรมการ

  1. พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ ประธานกรรมการบริษัท, กรรมการอิสระ
  2. นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่, กรรมการ
  3. นายพงษ์ศักดิ์ วชิรศักดิ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการ
  4. นายรังสรรค์ พวงปราง กรรมการ
  5. นางจรัสลักษณ์ นิธยานุรักษ์ กรรมการ
  6. นายไกรรวี ศิริกุล กรรมการ
  7. นายสุพจน์ พิทยพงษ์พัชร์ กรรมการ
  8. นายวันชัย รัตนวงษ์ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  9. นายวุฒิชัย ดวงรัตน์ กรรมการอิสระ, ประธานกรรมการตรวจสอบ
  10. นายเฉลิมรัฐ นาควิเชียร กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ

Back to top button