TU ได้ไม่คุ้มเสีย หุ้นทรุด – มาร์เก็ตแคปวูบ

การปรับตัวลดลงของราคาหุ้น TU จึงถือเป็นโอกาสการลงทุนของนักลงทุนระยะยาวที่จะเข้าทยอยซื้อสะสมในช่วงเวลาที่ราคาหุ้นอ่อนตัวลง


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ได้ออกมาตอบโต้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ระบุว่า ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง กรณีซื้อหุ้น TU โดยอาศัยข้อมูลภายใน การเปิดเผยข้อมูลภายในและการช่วยเหลือให้ใช้ข้อมูลภายในนั้น TU ได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดโดยละเอียดแล้ว และไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงการซื้อหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายในแต่อย่างใด

TU ยืนยันว่าบริษัทให้ความสำคัญและยึดมั่นในหลักบรรษัทภิบาลมาโดยตลอด และจะมุ่งมั่นรักษาบรรทัดฐานการจัดการด้านบรรษัทภิบาล รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานให้ทันสมัยตามมาตรฐานสากลอยู่เสมอ

ขณะที่บุคคล 9 ราย ที่ถูกลงโทษทางแพ่งตามมาตรการของ ก.ล.ต.นั้น มีเพียง 2 ราย คือ “ไกรสร จันศิริ” ที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ และ ชวน ตั้งจันสิริ” ที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ โดยบุคคลทั้ง 2 รายประสงค์จะลาออกเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบแก่บริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2565 เป็นตันไป

เป็นที่น่าสังเกตว่าการลาออกในครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจาก “วรวรรณ ธาราภูมิ” ประธานคณะอนุกรรมการนโยบาย ESG Policy & Collective Action และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ซึ่งมีผู้แทนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุน ได้ออกมาเรียกร้องต่อ TU เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ถึงความกังวล รวมทั้งต้องการให้กรรมการและผู้บริหารที่ได้รับการลงโทษลาออกจากตำแหน่ง เพราะจะมีผลกระทบต่อความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจของ TU ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในเรื่องของ ESG เพื่อไม่ให้ TU ได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นในการลงทุน

หลังจากนั้นไม่นาน “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU แจงกลับไปยัง AIMC ว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่ไม่พบหลักฐานใด ๆ ตามที่ ก.ล.ต. กล่าวอ้าง และเพื่อธำรงหลักบรรษัทภิบาล ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงไม่สามารถเร่งรัดดำเนินการใด ๆ อันจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งยังมิได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบให้สิ้นสงสัยโดยกระบวนการในชั้นศาลได้

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น TU อย่างมาก เพราะนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ ก.ล.ต. ได้มีมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 9 ราย โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 13,363,281 บาทนั้น ผ่านมาแล้ว 10 วันทำการ (1-20 เมษายน) ราคาหุ้น TU ได้ปรับตัวลดลงจากระดับ 19 บาท (ราคาปิด ณ 11 เมษายน) ไหลลึกลงไปยืนแถว ๆ 16.50 บาท ร่วงลง 13.15% และนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้น TU ปรับตัวลดลงไปถึง 14.36% ทรุดลงมากกว่าอุตสาหกรรมอาหารที่ลดลง 12.09% ขณะที่มูลค่าตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคปของ TU หดหายไปมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท แม้ล่าสุด (20 เมษายน) ราคาหุ้น TU  จะเริ่มกลับมายืนระดับ 16 บาทปลาย ๆ ได้แล้วก็ตาม

TU นับเป็นหุ้นที่มีนักลงทุนสถาบันถืออยู่จำนวนมาก จากฐานข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า  ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565 ผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของ TU ประกอบด้วย 1. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้นจำนวน 622.77 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 13.05% 2. ธีรพงศ์ จันศิริ จำนวน 303.66 ล้านหุ้น  คิดเป็น 6.36% 3. MITSUBISHI UFJ MORGAN STANLEY SECURITIES CO., LTD. จำนวน 297.74 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.24% 4. เชง นิรุตตินานนท์ จำนวน 200.44 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.20% 5. จารุณี ชินวงศ์วรกุล จำนวน 169.32 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.55%

6. สำนักงานประกันสังคม จำนวน 160.52 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.36% 7. ไกรสร จันศิริ จำนวน 134.80 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.83 % 8. ดิสพล จันศิริ จำนวน 123.34 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.58% 9. STATE STREET EUROPE LIMITED จำนวน 122.56 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.57% และ 10. บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 116.68 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.45%

การออกมาตอบโต้ ก.ล.ต.ของ “ธีรพงศ์ จันศิริ” และการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งของบอร์ด TU 2 ราย ยังไม่สามารถทำให้ราคาหุ้นของ TU ฟื้นตัวได้ เพราะเมื่อประเมินด้านพื้นฐานแล้ว TU ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยเข้ามากดดัน

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจมุมมองของโบรกเกอร์จำนวน 13 ราย ต่อผลการดำเนินงานของ TU พบว่าสำหรับการลงทุนในระยะยาว TU เป็นหุ้นที่สามารถลงทุนได้ เนื่องจากมีโบรกเกอร์ถึง 9 รายให้คำแนะนำ “ซื้อ” ขณะที่ 4 รายให้คำแนะนำ “ถือ” โดยให้ราคาเป้าหมายสูงสุดในปี 2565 นี้ ที่ 26 บาท และต่ำสุดที่ 18 บาท มีราคาหุ้นเฉลี่ยที่ 22.22 บาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (Price/Earnings Per Share) หรือ ค่าP/E  ที่ 13.5 เท่า และมีมูลค่าหุ้นตามบัญชี (P/BV) ที่ 11.5 เท่า นอกจากนี้มีการประเมินว่า TU จะสามารถจ่ายปันผลได้ในอัตราสูงถึง 5%

ทั้งนี้โบรกเกอร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ในระยะสั้นผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2565 นี้ กำไรของ TU จะลดลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งจากค่าขนส่งและแรงงาน จนยอดขายและมาร์จิ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่สามารถชดเชยได้ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ท้าทาย TU ต่อไปในไตรมาส 2 ด้วย นอกจากนี้ TU ยังต้องเผชิญกับต้นทุนราคาวัตถุดิบทูน่า, แซลมอน, น้ำมันพืช และบรรจุภัณฑ์กระป๋องที่สูงขึ้น รวมทั้งการพลิกฟื้น Red Lobster ยังค่อนข้างลำบาก อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงในปัจจุบันถือว่าเป็นระดับราคาที่ถูก ดังนั้นการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น TU จึงถือเป็นโอกาสการลงทุนของนักลงทุนระยะยาวที่จะเข้าทยอยซื้อสะสมหุ้นในช่วงเวลาที่ราคาหุ้นอ่อนตัวลงได้

Back to top button