เยนอ่อน ไม่ใช่บาทแข็ง

ยามนี้ใครที่คิดจะไปเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อลง “ออนเซน” เหมาะสำหรับเดินทางไปแลกถือเงินเยน ที่ถูกแสนถูกแถวระดับ 26 บาทต่อ 100 เยน


ปรากฏการณ์ล่าสุดในตลาดเก็งกำไรโลกยุคสงครามร้อนกลับมามีบทบาทใหม่ทั่วโลก ยามนี้ ที่ทำให้คนลืมเรื่องความล้มเหลวในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิต-19 นั่นคือสงครามค่าเงินใหม่ในยุคที่ราคาน้ำมันหาทางลงตามได้ยากนี้ นั่นคือการเก็งตุนดอลลาร์ของกลุ่มนักค้าเงินตราระหว่างประเทศ จนดอลลาร์กลายมาเป็นเงินที่คนกลับมาถือกัน และส่งให้ค่าเงินเยนร่วงลงไปจุดต่ำสุดในรอบ 20 ปีกันเลยทีเดียว เนื่องจากตลาดเงินเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ถึง 7 ครั้งในปีนี้

ล่าสุดวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.14% สู่ระดับ 95.69 ขณะที่ยูโรป ปรับตัวลง 0.13% สู่ระดับ 132.15 เยน และร่วงลง 0.18% สู่ระดับ 1.141 ดอลลาร์ เทียบเท่า 115.85 เยน ซึ่งตลาดถือว่าเป็นระดับที่เงินเยนต่ำสุดในรอบ 20 ปีทีเดียว

นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน มี.ค. หลังสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี รวมทั้งเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย “ได้อีกมาก” โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานซึ่งถือว่าอยู่ในสภาพเต็มที่ (มาตรฐานอเมริกาคือคนว่างงานต่ำกว่า 5.5% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 88% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน มี.ค. จากเดิมที่เคยให้น้ำหนักเพียง 14%

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 95% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1.00% ภายในเดือน มิ.ย.

ผลพวงของการทำสิ่งที่เรียกว่า เยน แครี่เทรด คือการทิ้งเงินเยนเพื่อเอาไปถือดอลลาร์สหรัฐแทน ทำให้ค่าบาทของไทยแพงขึ้นเทียบกับเยนของญี่ปุ่น เหลือเพียง 26 บาทต่อ 100 เยน เท่านั้น  โดยที่เทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ แล้วบาทไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก

การกลับมาของ เยน แครี่เทรด (ตรงข้ามกับดอลลาร์แครี่เทรดเพราะเป็นการขายดอลลาร์ถือเงินสกุลอื่นแทน) นอกจากสร้างความผันผวนในตลาดเก็งกำไรทั่วโลกอีกครั้งหนึ่งแล้ว ค่าบาทที่แข็งขึ้นเทียบกับเยนยังเป็นตัวแปรเชิงสัญลักษณ์ที่บอกให้รู้ว่าดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย ถึงได้ร่วงน้อยกว่าที่อื่น ๆ ในเอเชีย และทำท่าเป็นไซด์เวย์อัพอย่างช้า ๆ ใต้ระดับ 1,700 จุดของดัชนีตลาด

ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ผ่านมาพุ่งขึ้นแตะระดับเหนือ 85.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันต่อค่าเงินเยน และราคาทองคำที่ยืนเหนือ 2.00 พันดอลลาร์ จนทำให้ราคาค้างเติ่งเกินกว่า “ราคาใช้สอย (useable prices)” เพราะผลพวงของสงครามไม่ประกาศในยูเครนระหว่างสหรัฐฯ-พันธมิตรนาโต้กับรัสเซีย

ความปั่นป่วนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนี้ จะทำให้ยุคเก็งกำไรหลากหลายมากขึ้น ข้อเด่นคือจากนี้ไปอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดพื้น ค่อยผงกหัวขึ้น เป็นประเด็นเรื่องที่ทำให้ “กับดักสภาพคล่อง” และ “เงินฝืด” ค่อย ๆ หมดไป

สถานการณ์ของตลาดหุ้นยามนี้ ที่แกว่งไกวในลักษณะไซด์เวย์ขาขึ้น โดยมีค่าเงินบาทที่แข็งเกินสวนกับค่าของดอลลาร์ที่แข็งขึ้นเทียบกับค่าเงินสกุลสำคัญของโลก ยกเว้นค่าบาทไทย จากการที่ทุนไหลเข้ามาต่อเนื่อง จึงเลี่ยงไม่พ้น…… แม้จะพยายามหนีสักแค่ไหน

ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน และสินค้าทดแทนกัน รวมทั้งกลุ่มปิโตรเคมี ยามนี้ที่บิดเบี้ยวผิดธรรมชาติ ส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุผลที่อธิบายได้

ดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐฯ กำลังเปิดทางให้ตลาดหุ้นไทยมีราคาหุ้นบจ.จำนวนมาก ราคาต่ำกว่าบุ๊กแวลูมานานเกินไปแล้ว

ยามนี้ใครที่คิดจะไปเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อลง “ออนเซน” เหมาะสำหรับเดินทางไปแลกถือเงินเยน ที่ถูกแสนถูกแถวระดับ 26 บาทต่อ 100 เยน เอาไว้ใช้สอย น่าจะคุ้มกว่าคุ้มในระยะยาวคือปีหน้า…ก็ไม่เลวนะ

Back to top button