พาราสาวะถี

ไม่ต้องเหนียมอะไรกันกับปมความขัดแย้งในพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ 15 กรรมการบริหารพรรคภายใต้อาณัติของ ธรรมนัส พรหมเผ่า


ไม่ต้องเหนียมอะไรกันกับปมความขัดแย้งในพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ 15 กรรมการบริหารพรรคภายใต้อาณัติของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ไขก๊อกเพื่อบีบให้ “บิ๊กน้อย” พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ลาออกจากความเป็นหัวหน้าพรรค ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าการปีนเกลียวกันเกิดจากที่หัวหน้าพรรคที่เป็นมือขวาของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ต้องการที่จะให้ 18 ส.ส.ของพรรคกลับไปอยู่บ้านหลังเดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับจุดยืนของผู้กองมันคือแป้งที่หัวเด็ดตีนขาดไม่มีวันกลับไปเหยียบพรรคสืบทอดอีก

ชัดเจนเหมือนที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์นักข่าวกับประเด็นที่ว่าบิ๊กน้อยไม่สบายใจเพราะคนในพรรคไม่ให้ความสำคัญ “มีหลายเรื่องที่พลเอก วิชญ์ อาจไม่คุ้นเคยกับการเมือง เพราะชีวิตอยู่แต่ในกรม ในกอง ในสังคมการเมืองไม่สามารถใช้ระบบทหารมาปกครองนักการเมืองได้ ตรงนี้เป็นสาระสำคัญมาก จึงทำให้ท่านไม่สบายใจ” แน่นอนว่า การชี้ให้เห็นวิธีการทำงานของอดีตหัวหน้าพรรคในรูปแบบทหารนั้น ไม่ใช่แค่การตีจุดอ่อนของคนที่ไม่กินเส้นกัน หากแต่ยังกระแทกกระทบไปถึงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจด้วย

ธรรมนัสนั้นอาจได้ชื่อว่าเคยเป็นอดีตทหาร เป็นคนที่ทำงานรับใช้ใกล้ชิดกับพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ภายในพรรคสืบทอดอำนาจจนได้รับความไว้วางใจ แต่เจ้าตัวก็เป็นนักการเมืองอาชีพที่เข้าใจวิถี วิธีคิดและการทำงานในรูปแบบของนักเลือกตั้ง การชักธงรบกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจนตัวเองโดนขับออกจากพรรคแกนนำรัฐบาลนั้น คือ บทพิสูจน์ของการมองเห็นถนนสายการเมืองสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าจะเดินกันไปในรูปแบบไหน

ดังนั้น จึงชัดเจนและหนักแน่นกับคำตอบที่ว่าจะมีโอกาสกลับไปยังพรรคเดิมอีกหรือไม่ และยังเป็นการฉายให้เห็นรอยร้าว ความขัดแย้งที่ฝังลึกและกำลังกัดกร่อนภายในพรรคสืบทอดอำนาจอยู่ในเวลานี้ ตามที่ธรรมนัสยืนยัน “พรรคพลังประชารัฐมีโครงสร้างหมดแล้ว เราจะไปแทรกแซงอะไรเขา และกลับไปจะไปทำอะไร หรือกลับไปจะไปทะเลาะกันเหมือนเดิม ผมมีโลกใบใหม่ของผมแล้ว ไม่กลับไปเด็ดขาด” และไม่ต้องถามต่อว่าแล้ว ส.ส.ที่มาด้วยกันคิดเหมือนกันหรือไม่

สิ่งที่ธรรมนัสย้ำต่อการพาทั้ง 18 ชีวิตออกมาจากพรรคพลังประชารัฐก็คือ รับปากว่าจะดูแลคนเหล่านั้นในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการกลับเข้าเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้น ทุกคนจึงฝากความหวังและอนาคตทางการเมืองไว้กับตน พร้อมย้ำด้วยว่า กรรมการบริหารพรรคที่มีอันต้องพ้นสภาพไปนั้นเป็นเพียงแค่ชุดเฉพาะกิจ นั่นหมายความว่า การเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ธรรมนัสพร้อมกุมบังเหียนหัวหน้าพรรคด้วยตัวเอง

ส่วนสิ่งที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ยืนยันทุกครั้งเมื่อถูกถามว่าพรรคเศรษฐกิจไทยยังหนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและรัฐบาลหรือไม่นั้น คำตอบของธรรมนัสน่าจะอธิบายให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น หากรัฐบาลทำสิ่งที่ถูกต้องก็พร้อมสนับสนุนรัฐบาล แต่หากไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ที่เห็นประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ก็มีความจำเป็นที่พรรคเศรษฐกิจไทยต้องประกาศจุดยืนของพรรค หากอิงเอากับผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก็ชวนให้เกิดคำถามต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเหมือนกันว่ายังมั่นคงอยู่หรือไม่

ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอาจยังมั่นใจอยู่ จากคำยืนยันของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกับ 260 เสียงที่จะช่วยค้ำยันให้รัฐบาลอยู่ได้จนกว่าจะมีความพร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง แต่ก็ต้องอ่านสถานการณ์ทางการเมืองกันไปด้วย อาฟเตอร์ช็อกจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ส่งผลรุนแรงต่อการเมืองภาพใหญ่ขนาดไหน หากมีผลมากจากที่เคยประกาศอุ้มกันสุดตัว อยู่กันจนกว่าจะครบเทอมก็ต้องคิดและทบทวน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง

น่าคิดอยู่เหมือนกันถ้าโควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น มีการผ่อนคลายถึงขนาดที่จะเลิกสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะกันได้แล้ว หากเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและคืนอำนาจในการดูแลสถานการณ์จาก ศบค.ไปอยู่ในมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มตัวแล้ว ก็น่าจะเป็นจังหวะที่เสี่ยหนูจะได้ประกาศแสดงผลงานในการดูแลแก้ไขปัญหาที่ทางหมอการเมืองและผู้บริหารกระทรวงคุณหมอเป็นผู้เสนอแต่ถูกรวบอำนาจไปให้ประชาชนได้ชื่นชม ก่อนที่จะหาช่องเพื่อทำให้พรรคได้รับคะแนนนิยมเพิ่ม

ขณะเดียวกัน ผลพวงจากชัยชนะของชัชชาติและการประกาศเดินหน้านโยบายกว่า 200 นโยบายให้เป็นจริง ท่ามกลางเสียงค่อนขอดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและบรรดารัฐมนตรีลิ่วล้อสอพลอนั้น มีเรื่องหนึ่งที่ชวนให้คิดกับสิ่งที่ชัชชาติได้แสดงออกนั่นก็คือ การชูธงความสามัคคีของทุกคนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนที่มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงได้ แนวทางเช่นนี้ได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองต่าง ๆ

หากชัชชาติทำให้เห็นเป็นตัวอย่างในการจับมือกับทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ให้เป็นจริงได้ ก็จะเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เกิดเป็นภาพของการประสานความร่วมมือ สร้างความสามัคคีของคนในชาติตามมา ด้วยเหตุนี้ย่อมทำให้ฝ่ายกุมอำนาจในนามขบวนการสืบทอดอำนาจนั้นไม่พอใจ เพราะสิ่งที่ทำให้ตัวเองอ้างอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้นับแต่การรัฐประหาร คือ การเข้ามาสร้างความสงบเรียบร้อย ในขณะที่ความขัดแย้งแตกแยกกลับไม่ได้หมดไปแต่อย่างใด

ประเด็นนี้เป็นไปอย่างที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันนั่นก็คือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและขบวนการสืบทอดอำนาจ ต้องการให้ความขัดแย้งคงอยู่ต่อไปเช่นนี้ เพราะรู้กันดีว่านี่คือแผน ตั้งแต่ม็อบนกหวีดที่เน้นการสร้างความแตกแยก แตกสามัคคีภายในชาติ เพื่อโบกมือดักกวักมือเรียกเผด็จการ คสช.ออกมา หลังจากนั้นเมื่อแผนการสืบทอดอำนาจสำเร็จ ยุทธวิธีปล่อยให้แตกแยกจึงถูกนำมาใช้ เพื่อตัวเองและพวกพ้องจะได้ปกครองต่อไป อย่างที่บอกชัยชนะของชัชชาติได้สร้างแรงกระเพื่อมหลายประการ มันจึงทำให้หัวขบวนและลิ่วล้อ บริวาร ขบวนการสืบทอดอำนาจออกอาการกันอย่างหน้าไม่อาย

Back to top button