AOT รับหด..จ่ายเพิ่ม

ด้วยเงื่อนไขรัฐบาลจะประกาศให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการลดหย่อนก็จะกลับมาเป็นปกติ


ด้วยเงื่อนไขรัฐบาลจะประกาศให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป ก็จะทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการลดหย่อนก็จะกลับมาเป็นปกติ หนึ่งในนั้นคือ ในส่วนของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT..!!

จากก่อนหน้านี้ AOT ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด จนประสบปัญหารายได้หายกำไรหด เลยเป็นที่มาของการลดหย่อนค่าเช่าที่ราชพัสดุ ซึ่ง AOT เช่าจากกรมธนารักษ์ ให้ 50% ส่งผลให้ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ เหลือจ่ายค่าเช่าแค่ 112 ล้านบาทเท่านั้น…

แต่พอกลับมาเป็นปกติ นั่นหมายถึง หมดช่วงโปรโมชั่นแล้ว ก็จะทำให้เงื่อนไขต่าง ๆ กลับมาเหมือนเดิม..!!

เท่ากับว่า ค่าเช่าสนามบินสุวรรณภูมิต้องกลับมาจ่ายแบบ ROA ขั้นต่ำ 900 ล้านบาทต่อปี โดยมีเงื่อนไขต้องปรับปรุงค่าตอบแทนแบบ ROA 9% ของค่าตอบแทนเดิมทุก 3 ปี…

ขณะที่ พบว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดค่าเช่าของ AOT จะอยู่ที่ปีละ 3,000-4,000 ล้านบาทเลยทีเดียว…

แหม๊…นี่ถ้า AOT อู้ฟู่เหมือนในอดีต ก็คงไม่ใช่ปัญหาอะนะ…

แต่ตอนนี้ที่เป็นปัญหา เพราะขาของรายรับมีเงื่อนไขผูกปมอยู่น่ะสิ…ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เป็นแอร์โรว์ และรายได้จากนอนแอร์โรว์ ซึ่งยังไม่หมดโปรโมชั่นง่าย ๆ โดยเฉพาะที่ AOT เปย์ให้กับ “คิง เพาเวอร์” และสายการบินต่าง ๆ ยังไม่หมดเร็ว ๆ นี้…

เป็นผลสืบเนื่องมาจากมติบอร์ด AOT เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 มีมติให้ช่วยพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของทอท.ทั้ง 6 แห่ง (อีกครั้ง) หลังจากต่อโปรฯ มาแล้วหลายครั้ง…โดยได้ขยายเวลายกเว้นเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2566

รวมทั้งปรับลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือน ค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charges) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2566 เป็นต้น

ทำให้ AOT ตกอยู่ในสภาพขารับหด…แต่ขาจ่ายเพิ่ม..!!

ก็น่าสนใจว่าจะกระทบต่องบของ AOT มากน้อยแค่ไหน..? หลังจากงบงวด 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 2564-มี.ค. 2565) มีตัวเลขขาดทุนไปแล้วกว่า 7,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 7,086 ล้านบาท…ดูไม่จืดจริง ๆ…

เอ๊ะ…หรือบอร์ด AOT จะหยิบยกเรื่องนี้มาปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่หรือเปล่า..? หลังจากที่ผ่านมาทำตัวเป็นสายเปย์ให้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยมาสักพักใหญ่แล้ว

งานนี้ต้องวัดใจบอร์ด AOT แล้วล่ะ..!? เพราะนั่นก็หมายถึง รายได้ที่ AOT จะได้จาก “คิง เพาเวอร์” และสายการบินต่าง ๆ ก็จะเต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นกัน…

แต่ถ้าให้เดา โอกาสคงยากอะนะ..!?

ส่วนจะด้วยเหตุผลอะไรนั้น…ไม่อยากพูดเยอะ…เจ็บคอ..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button