‘บิ๊กตู่’ ใช้เงิน ‘โรงกลั่น’ กู้ฐานเสียง

เอนจอยค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนอุบัติขึ้นมาได้แค่ไม่เท่าไหร่ ก็มีเหตุให้ “หุ้นโรงกลั่น” ที่เพิ่งจะได้ลืมตาอ้าปากมีอันต้องเผชิญสถานการณ์สุ่มเสี่ยงอีกครั้ง


เอนจอยค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนอุบัติขึ้นมาได้แค่ไม่เท่าไหร่ ก็มีเหตุให้ “หุ้นโรงกลั่น” ที่เพิ่งจะได้ลืมตาอ้าปากมีอันต้องเผชิญสถานการณ์สุ่มเสี่ยงอีกครั้ง

ค่าการกลั่นก่อนหน้านี้ทรุดเรี่ยดินมานานหลายปี ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ไล่มาตั้งแต่ “เทรดวอร์” ต่อเนื่องมาจนถึงโควิดฯ

บรรดาผู้ประกอบการโรงกลั่นต้องทนรับสภาพ จนบางช่วงเลวร้ายถึงขั้น “ยิ่งกลั่นมาก ก็ยิ่งขาดทุนมาก”

กระทั่งวันนี้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มมีการฟื้นตัว เร็วช้าต่างกันไปในแต่ละประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็กลับมาคึกคักมากขึ้น พอไปผนวกกับเรื่องของสงคราม จึงทำให้ค่าการกลั่นดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข่าวร้ายที่เป็นตัวกดดันเที่ยวนี้คือการที่กระทรวงพลังงานส่งสัญญาณว่าจะเข้ามาแทรกแซงค่าการกลั่นของน้ำมันที่ใช้ในประเทศไทย

โดยตั้งใจให้ราคาขายปลีกปรับลดลงเพื่อเป็นการลดภาระแก่ประชาชนในสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงเช่นทุกวันนี้

ถือเป็นเจตนาดีของรัฐบาลแต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การเข้าไปควบคุมในลักษณะนี้ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการจงใจบิดเบือนกลไกตลาด เป็นวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้วหรือไม่?

สมการสำหรับคิดราคาน้ำมันขายปลีกปัจจุบันประกอบด้วยตัวแปรที่ยาวเป็นหางว่าว เรียบเรียงออกมาเป็นที่มาที่ไปของราคาหน้าปั๊มได้ดังนี้

ราคาหน้าโรงกลั่น บวกด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ออกมาเป็นราคาขายส่ง

จากนั้นบวก VAT ครั้งที่ 1 ต่อด้วย ค่าการตลาด และ VAT ครั้งที่ 2 ก่อนออกมาเป็นราคาที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน

การที่ “รองฯ สุพัฒนพงษ์” ซึ่งเป็นรัฐมนตรีพลังงานด้วย ตั้งทีมขึ้นมาพิจารณาเรื่องแทรกแซงค่ากลั่นครั้งนี้ ก็เรียกความสนใจได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ว่าเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงในกลุ่มกิจการของ ปตท. ก่อนมารับตำแหน่งทางการเมือง

ถ้าจะมีใครสักคนในรัฐบาลนี้ที่เข้าใจหัวอกของคนทำธุรกิจโรงกลั่น รวมถึงกลไกต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงานได้ดีที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น “รองพงษ์” คนนี้อย่างแน่นอนที่สุดเหมือนกัน

เป็นเรื่องน่าแปลกว่าบรรดานานาอารยประเทศที่ศิวิไลซ์แล้ว และมีการเปิดเสรีด้านธุรกิจพลังงานที่ปล่อยให้หลัก “ดีมานด์-ซัพพลาย” เป็นตัวชี้วัดความเคลื่อนไหวของราคา เขามักจะแก้ปัญหาน้ำมันแพงด้วยการปรับลดภาษีหรือเงินกองทุนลงชั่วคราว

แต่จะไม่มายุ่มย่าม ล้วงลูก หรือแทรกแซง เอากับขั้นตอนการคิดราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งควรต้องถูกปล่อยให้เป็นไปตามกลไกที่เป็นมาตรฐานของตลาดโลก

“รองพงษ์” คนนี้อีกนั่นแหละ! เป็นผู้รู้ดีที่สุดว่าไอ้ที่พูดกันอยู่ปาว ๆ ว่าโรงกลั่นฟันกำไรกันได้เป็นหลัก 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลโดยอิงจากค่าการกลั่น GRM ในปัจจุบัน แท้จริงเป็นเพียงตัวบ่งชี้กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการเท่านั้น

Gross Refining Margin หรือ GRM คือส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น หักด้วยราคาน้ำมันดิบอ้างอิง

ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ต้นทุนดำเนินการ ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมฯ และภาษี แล้วไหนจะความเสี่ยงในการบริหารราคา/สต๊อกน้ำมันอีก

เรียกได้ว่ากว่าจะลง “กระไดบัญชี” มาจนถึงบรรทัดสุดท้ายที่เป็นตัวเลขสุทธิ เลือดตาก็แทบกระเด็นไปตาม ๆ กัน

คุณสุวัฒน์ สินสาฎก นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อาวุโส เชี่ยวชาญด้านกิจการพลังงาน จาก FSSIA ประเมินว่า ที่ค่า GRM ระดับ 20 ดอลลาร์ โรงกลั่นในไทยจะมีกำไรสุทธิลงมาเหลืออยู่ประมาณ 10 ถึง 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

พระเจ้าช่วย! คิดเป็นเงินไทยต่อลิตร ก็ตกอยู่ประมาณ 2-3 บาทเพียงเท่านั้น…

ข่าวบางกระแสระบุว่ารัฐบาลต้องการลดราคาหน้าปั๊มให้ได้ถึง 3 บาทต่อลิตร เชื่อเลยว่าโรงกลั่นไหนมาบังเอิญได้ยินเรื่องนี้เข้า ก็คงมีอาการหูลู่หางตกกันเป็นแถว

เพราะนั่นหมายถึงกำไรจากการกลั่นที่ปกติเหลืออยู่ไม่เกิน 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แล้วยังจะต้องถูกสั่งให้ลดไปอีกเกือบ 15 ดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ประกอบการโรงกลั่นต้องแบกรับผลขาดทุนในทันที

น้ำมันถูกลงก็เป็นเรื่องดีต่อพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งหมายรวมถึงตัวของผู้เขียนด้วย

แต่สำคัญกว่านั้นคือความจริงที่ว่าเราไม่ควรดั้นด้นไปแทรกแซงในเรื่องที่ไม่ควรแทรกแซง

เรื่องของพลังงาน ประเทศไทยเราเองก็ยินดีในการเปิด “ตลาดเสรี” เพื่อให้ทัดเทียมประชาคมโลก

ซึ่งเจ้าคีย์เวิร์ด “เสรี” นี่แหละ! ที่ได้สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ทั้งในรูปของการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี น้ำมันสำเร็จรูป ชิ้นส่วนรถยนต์ และอื่น ๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผลสืบเนื่องจากการ “เปิดเสรีตลาดพลังงาน”

“ธุรกิจโรงกลั่น” เป็นความจำเป็นเชิงยุทธศาสตร์ที่ควรค่าแก่การทะนุถนอมไว้เพื่อบริหารความมั่นคงของปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ พร้อม ๆ กับสร้างความมั่งคั่งด้วยการส่งออกไปขายนอกประเทศ

จริงอยู่ที่วันนี้ “คลัง” ยอมถอยภาษีสรรพสามิตให้ชั่วคราวแล้ว ส่วนค่าการตลาดก็ถูกกำหนดเพดานไว้แล้ว แต่มันจะจนปัญญาถึงขั้นต้องไปควบคุมค่าการกลั่นด้วยเชียวหรือ

“เบสต์ โซลูชั่น” สำหรับการรับมือกับสถานการณ์น้ำมันแพงคือการทำให้คนมีกำลังซื้อ หรือพูดให้ง่ายคือมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ความเหลื่อมล้ำระหว่างค่าใช้จ่ายกับรายได้ก็จะหดแคบลง

แต่ถ้ายังทำถึงขั้นนั้นไม่ได้ อย่างน้อยก็ไปลองดูว่าจะดึงเงินจากส่วนไหนที่เป็นการใช้งบประมาณแบบไร้ยุทธศาสตร์ที่สร้างสรรค์ เพื่อมาอุดหนุนส่วนที่เป็นปัญหาจริง ๆ อยู่ในขณะนี้ได้บ้าง

ย้ำว่าการหาทางช่วยประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายถือเป็นเจตนาดี และหากทำได้จริงก็คงกู้แรงศรัทธากลับคืนมาให้ตัว “พลเอกประยุทธ์” ได้อยู่ไม่น้อย

แต่ความนิยมชมชอบนี้ หากว่าได้มาจากการที่ต้องไปบิดเบือนกลไกของการเปิดเสรีตลาดพลังงานจริง

มันคงไม่ต่างอะไรกับคะแนนนิยมที่ได้มาจากการใช้เงินซื้อ แต่ร้ายกาจตรงที่ใช้เงินคนอื่นซื้อนี่ล่ะสิ!

Back to top button