ใครเหมาะ…ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ

เกม โอเวอร์ หรือยัง? การเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ระหว่างดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธปท.ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กับนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน


เกม โอเวอร์ หรือยัง? การเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ระหว่างดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธปท.ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กับนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ผมว่า ยัง! เพราะเดิมกำหนดจะให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำเสนอครม.นัดวันที่ 1 ก.ค.เพื่อให้ความเห็นชอบผู้รับการเสนอโดยรมว.คลังเพียงรายชื่อเดียว

แต่นายพิชัยติดราชการด่วน ต้องเดินทางไปเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ในวันที่ 3 ก.ค. ครม.นัดที่ผ่านมา จึงไม่มีการบรรจุวาระพิจารณาเรื่องนี้

ความน่าจะเป็นอย่างเร็วที่สุด ก็คงจะมีการพิจารณากันในครม.นัดหน้า หลังการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ในวันที่ 3 ก.ค.

ดร.รุ่งอายุ 57 เรียนจบทั้งฮาร์วาร์ดและ MIT อันเป็นไอวี่ ลีกชั้นสุดยอดของสหรัฐฯ ส่วนนายวิทัย อายุ 54 แม้ไม่มีชื่อ “ด็อกเตอร์” นำหน้า เรียนจบป.ตรี เศรษฐศาสตร์มธ. แต่ก็กวาดปริญญาโทซะ 3 ใบคือ เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ กฎหมายธุรกิจจุฬาฯ และการเงิน Drexel Universityสหรัฐฯ

นายวิทัย เป็นบุตรนางศิริลักษณ์ รัตนากร อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 4 และโสภณ รัตนากร อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ผ่านงานมาทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เคยถูกส่งไปรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามเพื่อแก้ไขสถานะการเงินจนมีกำไรในช่วงปี 60-61

อดีตเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ช่วงปี 61-63 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน 2 สมัย ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา 

ผลงานเด่นคือการแปลงธนาคารออมสินเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” นำพาประชาชนกว่า 18ล้านคน เข้าสู่กระบวนการแก้หนี้ และการปล่อยสินเชื่อ ทั้งก็ยังดำรงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นลำดับ 3 ถึงปีละ 23,000 ล้านบาท

ในการนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็นำเสนอวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนในเรื่องของการลดดอกเบี้ย เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลดภาระหนี้ประชาชนให้น้อยลง จะได้มีเงินเหลือไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ส่วนดร.รุ่ง มีแนวทางลดส่วนต่างดอกเบี้ยฝาก-กู้ธนาคารพาณิชย์ที่ถ่างกว้างมากให้หดแคบลง พร้อมกับใช้เครื่องมือช่วยทางการเงินอื่น ๆ ทั้งระบบเช่น บสย.หรือ NaCGA เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อ

เพื่อลดความเสี่ยงของธพ.และสามารถปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมากนัก

นอกจากนั้น ยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในเรื่องของ “ภูมิทัศน์ใหม่” (New Financial Landscape) ร่วมผลักดันนโยบาย Open Data, Open Infrastructure และ Open Competition เพื่อกระตุ้นผู้เล่นใหม่อย่างเช่น Virtual Bank, Non-Bank

แน่นอน! หากมองความโดดเด่นภายนอก นายวิทัยที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระดับประชาชนและประสบการณ์ตรงในงานภาคสนาม มีความโดดเด่นกว่าดร.รุ่ง ที่มุ่งเน้นงานด้านนวัตกรรม-ดิจิทัล และเครื่องมือใหม่ ๆ ทางการเงิน ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงจำกัด

แต่ดร.รุ่งก็มีความได้เปรียบที่เป็น “ลูกหม้อแบงก์ชาติ” ที่สามารถมองการขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

ผมหันไปถาม Chat GPT ว่าใครเหมาะสมที่สุดเจ้าเครื่องมือ AI ตัวนี้ ก็ร่ายทางเลือก 2 ทางมาให้…หากเป้าหมายเน้นสเถียรภาพ ระบบการเงินใหม่ และ Ecosystem ทันโลก ก็ต้องเลือกดร.รุ่ง และหากโฟกัสทันทีที่ฐานราก-หนี้เร่งด่วน ต้องเลือกวิทัย

แต่ก็ดันฟันธงฉับในท้ายสุดว่าดร.รุ่งจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายเชิงโครงสร้าง และสร้างมิติใหม่ให้ประเทศได้ครบและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนสำหรับความเห็นผม ยอมรับว่ากลัวมากกับ “ผู้ว่าฯ บนหอคอย” ที่ไม่รู้สึกรู้สากับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าของประชาชนครับ บางท่าน

ขอโทษทีเถอะ “นโยบายการเงินตัวเอง” อาทินโยบายดอกเบี้ย นโยบายบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม ไม่ทำ เอาแต่วิพากษ์ “นโยบายการคลัง” ของรัฐบาล

ดร.รุ่งก็เด่น แต่ก็กลัวภาพหลอน “ผู้ว่าฯ บนหอคอย” ส่วนวิทัย มีผลงานจริงมาแล้วจาก “ธนาคารเพื่อสังคม” ถือว่าเด่นกันไปคนละแบบ

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button