ฟื้นความเชื่อมั่นไหวไหมทายท้าวิชามาร

เศรษฐกิจไทยวันนี้อยู่ด้วยความหวังว่า “ปีหน้าจะดีขึ้น” ทั้งด้วยภาวะเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ปัจจัยสำคัญที่ไม่ค่อยพูดกันคือ สถานการณ์การเมืองจะเป็นไปตามโรดแม็พไหม


เศรษฐกิจไทยวันนี้อยู่ด้วยความหวังว่า “ปีหน้าจะดีขึ้น” ทั้งด้วยภาวะเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ปัจจัยสำคัญที่ไม่ค่อยพูดกันคือ สถานการณ์การเมืองจะเป็นไปตามโรดแม็พไหม

สัปดาห์ที่แล้ว ทีมเศรษฐกิจของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ออกแพ็กเกจกระตุ้นการลงทุนยกใหญ่ สรุปง่ายๆ ถ้าใครลงทุนภายในมิถุนายน 2559 จะได้สิทธิพิเศษทางภาษีเพียบ ถ้าลงทุนภายในธันวาคม 59 หรือภายในปี 60 ก็ได้สิทธิลดน้อยลงไป ผมฟังแล้วขำๆ เพราะถ้าเทียบโรดแม็พการเมือง คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดมีชัย ฤชุพันธ์ จะต้องร่างให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม แล้วนำไปทำประชามติ 4 เดือน

แปลว่าเดือนมิถุนายนยังลูกผีลูกคนอยู่เลย ถ้าประชามติไม่ผ่านจะเกิดอะไร ระหว่างทำประชามติจะปั่นป่วนไหม ใครกล้าลงทุนขนาดใหญ่ก็ต้องยกนิ้วนายแน่มาก เพราะถ้าอยาก play safe รอไว้ครึ่งปีหลังดีกว่า

ถามว่าการเมืองมีผลสะเทือนใหญ่โตนักหรือ ฝันไปเปล่า? ใครจะกล้าต่อต้าน คสช. พวกเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นมีน้ำยาอะไร นักศึกษา? ท่านก็ปล่อยให้เคลื่อนไหว รวมคนได้แค่หยิบมือ

ใช่ครับ ไม่มีใครต่อต้าน คสช.ได้ ประชาชนหรือนักการเมืองล้ม คสช.ไม่ได้หรอก (ตราบใดที่ท่านไม่ขัดแย้งกันเอง) แต่เราไม่ได้พูดถึงการโค่นล้ม เราพูดว่า คสช.จะหาทางลงอย่างไรต่างหาก “ทางลง” นี่แหละยากมาก เพราะต้องร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช.พอใจ และประชาชนก็รับได้ ต้องหาจุดลงตัวให้ได้เพราะวางเงื่อนไขผ่านประชามติ

ลงไม่ได้อยู่ต่อไปไม่เห็นมีอะไร แน่ใจนะ? อำนาจรัฐประหารยิ่งอยู่นานยิ่งเปราะบาง แม้ดูแข็งกร้าวแต่แตกง่าย

รัฐบาล คสช.กำลังทำ 3-4 เรื่องพร้อมกัน หนึ่งคือยกร่างรัฐธรรมนูญ สอง ชำระสะสางคดีความนักการเมือง สาม กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่า “รัฐประหารกินได้” และสี่ ปฏิรูปประเทศ ปรับโครงสร้างการบริหารราชการ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปจนปฏิรูปการศึกษา

ในด้านหนึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลตั้งใจจริง ทำสิ่งดีๆ หลายเรื่อง รับฟังความคิดเห็น ระดมคนมีความรู้ความสามารถไปช่วยงาน แต่บางเรื่องก็แก้ปัญหาด้วยทัศนะทหาร ทัศนะรัฐราชการ ซึ่งถอยหลังหรือสร้างความขัดแย้งใหม่

ลำพังการยกร่างรัฐธรรมนูญหา “จุดลงตัว” ก็ยากเย็นแสนเข็ญ การชำระสะสางนักการเมือง โดยเฉพาะคดีจำนำข้าว ก็จะถูกวิจารณ์ “ยุติธรรม 2 มาตรฐาน” ขณะที่การ “ปฏิรูป” ด้านต่างๆ โดยรัฐบาลทหาร ก็จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยไม่แยกสี

ที่จริง ฟังท่านนายกฯ บ่นว่าเหนื่อยใจ บางวันไม่อยากตื่นมาทำงาน ผมก็เข้าใจและเห็นใจ คสช.เข้ามายึดอำนาจในสภาพที่สังคมไทยขัดแย้งรุนแรง เป็นความขัดแย้งที่ถ้าสามารถเดินไปตามวิถีตามกติกาประชาธิปไตย เราก็จะก้าวสู่คุณภาพใหม่ เพราะประชาชน ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ตื่นตัวต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองสูงมาก

แต่พอกองทัพมีอำนาจ กองทัพกลับเห็นว่าต้องยุติความขัดแย้ง พยายามทำให้คนไทยกลับไปคิดเหมือนกัน คิดเหมือนท่าน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ความเห็นต่างไม่ใช่มีแค่ฝ่ายเดียว แต่มีหลายเรื่องหลายฝ่าย การหาจุดลงตัวแบบที่กองทัพต้องการจึงเป็นไปไม่ได้

การหาจุดลงตัวไม่ได้ แม้ไม่มีใครโค่น คสช.ได้ คือความอึมครึมทางการเมืองที่ไม่มีใครมองออก ไม่รู้จะจบอย่างไร ไม่รู้ว่าบั้นปลายจะรุนแรงหรือสงบ รู้แต่ว่าอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ดีกว่า แต่ไม่รู้อนาคต ไม่รู้เลยว่าจะเป็นไปตามโรดแม็พไหม แล้วจะให้เชื่อมั่นอะไร

                                                                                                               ใบตองแห้ง

Back to top button