ค่าเงินบาทกับพายุการลงทุน

ในยามที่ตลาดกำลังตกอยู่ในภาวะ “ตื่นตูม” ที่ความกลัวมีบทบาทครอบงำพฤติกรรมการลงทุนในตลาดเก็งกำไรมากกว่าความโลภ


คำพูดของนักวิเคราะห์ชื่อดังที่ออกมาพูดถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนยวบลง มากที่สุดในรอบ 8 ปีที่ระดับเหนือ 36.50 บาทยามนี้ว่า พายุของการลงทุน หรือ Investment Storm ใครที่ฟังดูแล้วอดสยองไม่ได้ และทำให้เกิดการยับยั้งชั่งใจจะเข้าซื้อหลักทรัพย์เข้าพอร์ตมากพอสมควร เพราะเกรงไปว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “ซื้อว่าถูกแล้วยังมีถูกกว่าอีก” ให้รู้สึกเสียรังวัดกันได้

ในยามที่ตลาดกำลังตกอยู่ในภาวะ “ตื่นตูม” ที่ความกลัวมีบทบาทครอบงำพฤติกรรมการลงทุนในตลาดเก็งกำไรมากกว่าความโลภ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ค่าเงินบาทอ่อนยวบต่ำสุดในรอบ 7 ปี ตามค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่ทำสถิติอ่อนค่ามากสุดในรอบ 20 ปี

คำพูดที่หรูหราเกินจริงอย่างคำว่าพายุการลงทุน (ซึ่งเป็นคำประดิษฐ์ที่หลอกนักลงทุนหน้าโง่) แล้วก็มีสื่อบางสำนักตื่นตูมยิ่งกว่าโดยอ้างถึงนักวิเคราะห์ขาทุบที่ประกาศหน้าด้าน ๆ ว่า ค่าบาทอ่อนยวบทะลุทุกแนวต้าน “ถึงขั้น” ไร้สัญญาณกลับตัว ซึ่งหากปล่อยไปตามธรรมชาติ จะเป็นไปตามคาดบาทอาจจะทะลุแนวต้านจิตวิทยาเหนือ 37.00 บาทต่อดอลลาร์

การอ่อนค่าของเงินบาท ยังเกาะกลุ่มไปกับค่าเงินในเอเชียที่อ่อนค่าเช่นกัน ในมุมมองของฝ่ายบริหารของธนาคารกลางอย่างธปท.หรือแบงก์ชาติ ที่งัดเอาสถิติการอ่อนค่าของบาทยามนี้ ว่าหากดูจากต้นปีถึงปัจจุบันค่าเงินบาทยังไม่ได้เลวร้ายมากมายผิดปกติ เมื่อเทียบกับค่าเงินของชาติในเอเชียอื่น ๆ โดยเฉพาะเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาค เมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐ มากถึง 14.98%

นอกจากนั้นยังมีการอ้างถึงตัวเลขที่ค่าเงินชาติที่ตลาดเปิดกว้างอย่าง เงินวอน เกาหลีใต้ อ่อนค่า 8.95% เปโซ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 8.25% เงินดอลลาร์ ไต้หวัน อ่อนค่า 7.16% ค่าเงินรูปี อินเดีย อ่อนค่า 6.22% ค่าเงินริงกิต มาเลเซีย อ่อนค่า 5.85% แล้วก็ค่าเงินหยวน จีน อ่อนค่า 5.20 ค่าเงินดอลลาร์ สิงคโปร์ อ่อนค่า 3.90%

สรุปแล้ว ในสายตาของผู้บริหารธปท.ยังคงมองค่าบาทที่อ่อนยวบว่าเกิดจากการแข็งค่าของดอลลาร์มากกว่าบาทอ่อนค่า เพราะถ้าหากเทียบกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนลงไปถึงใต้ 25 บาทต่อ 100 เยนทีเดียว

จึงไม่น่าประหลาดใจที่เราจะได้เห็นนางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ของธปท. ออกมาย้ำอีกว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาท ที่ผ่านมาเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยเฉพาะ 1-2 วันที่ทะลุแนวต้านมาที่เหนือกว่า 36.00 บาท เพราะสาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายนอกเป็นที่เกิดจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จากความกังวลจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เงินดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน แข็งค่าขึ้นมา 11.3%

การที่เงินบาทอ่อนค่า 7.6% ถือว่ายังเกาะกลุ่มกับประเทศในภูมิภาค เช่นเดียวกับความผันผวนของเงินบาทที่ยังสอดคล้องภูมิภาคที่ระดับ 6.8% การเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาท ที่เทียบกับคู่ค้าคู่แข่งสำคัญของไทย ที่พบว่า อ่อนค่าขึ้นมา 1.5% ซี่งเป็นการอ่อนค่าตามค่าเงินในภูมิภาค

นอกจากนั้นเธอยังอ้างอีกว่า หากดูเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงิน ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 5 ก.ค. พบว่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ยังซื้อสุทธิที่ 9.7 หมื่นล้านบาท โดยตลาดหุ้นยังบวก 1.04 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดบอนด์มีแรงขายสุทธิที่ 7 พันล้านบาท ……ดังนั้น ธปท.ยังไม่เห็นภาวะทุนไหลออกสุทธิที่น่ากลัวอะไร   ที่ผ่านมา ธปท.ได้ให้การดูแล “เงินบาท” ด้วยการปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวฃองตลาดเงินนี้ แต่จะไม่แทรกแซงจากราคาหรือทิศทางของเงินบาท เพราะการเข้าไปแทรกแซง อาจเป็นการสะสมความเสี่ยงที่ไม่ยั่งยืนระยะยาวได้ ความเห็นของผู้บริหารของธปท.ต่อทิศทางของค่าบาทจึงปล่อยให้นักเล่นเกมในตลาดเงินดูแลตัวเอง โดยผู้ประกอบการจำเป็นที่ต้องเข้าไปป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อธุรกิจในระยะข้างหน้ากันเอาเอง

คำแนะนำของธปท.นั้น (เสมือนกับว่าไม่แนะนำเสียเลยยังจะดีกว่า) ตอกย้ำว่าทางเลือกที่จะป้องกันความเสี่ยงในยามนี้ มีสองทางเลือกแบบตัวใครตัวมัน แล้วอาจจะทำให้บางครั้งผู้ประกอบการ ต้องเลือกที่ทำให้เข้าสู่ความเสี่ยงมากขึ้นเลือกด้วยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ก็มักจะยิ่งเสี่ยงกว่าเดิม หรือไม่ก็มีต้นทุนสูงเกินจนไม่คุ้มเช่นสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FX Forward) หรือ ออปชั่น (FX Options) สำหรับการประกันค่าเงิน หรือ การบริการกระแสเงินสด เช่น การคงรายรับรายจ่ายให้อยู่ในสกุลเงินเดียวกัน การบริหารจังหวะเวลาของรายรับและรายจ่ายให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด หรือการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD)

ทางเลือกที่เห็นคือมีแต่จะขาดทุนมากหรือน้อยเท่านั้น ไม่ว่านักลงทุนจะมีเจตนาหรือไม่ เพราะในการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การป้องกันความเสี่ยงซึ่งเป็นสิ่งที่พลิกผันไปสู่ความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น (ซึ่งมีการเพื่อค่าธรรมเนียมสูงขึ้น)……โดยมีตัวแปรของตลาดปริวรรตเงินตราเป็นสัญญาณเหล่านั้น

ตลาดหุ้นที่ผันผวนยามนี้เป็นตลาดที่ผู้เล่นนอกจากอึดอัดกับความเสี่ยงแล้วยังมีความไม่แน่นอนที่ควบคุมได้ยาก……และที่สำคัญ ภาวะ พายุการลงทุนยามนี้ น่าจะอยู่คู่กับนักลงทุนระดับแมงเม่าไปอีกนานทีเดียว

Back to top button