หลายชาติเสี่ยงตามรอย ‘ศรีลังกา’

วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และไม่เคยมีมาก่อนในศรีลังกาได้ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ร่วมสามเดือนแล้ว


วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและไม่เคยมีมาก่อนในศรีลังกาได้ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ร่วมสามเดือนแล้ว และยังทำให้ประธานาธิบดีต้องยอมลาออกหลังจากหนีออกนอกประเทศ ตามความเห็นและคำเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีอีกหลายประเทศที่มีสิทธิ์จะเกิดวิกฤติแบบศรีลังกาได้

คริสทาลีนา จีออกีวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่าศรีลังกาเป็นสัญญาณเตือนแก่ประเทศที่มีหนี้สูง แต่มีโอกาสที่จะดำเนินนโยบายได้อย่างจำกัดว่าจะมีความตึงเครียดมากขึ้น นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาเช่นนี้ ยังกำลังประสบกับภาวะเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาสี่เดือนติดต่อกันแล้ว

ปัญหาของศรีลังหาเริ่มจาก ไม่มีเงินที่จะนำเข้าสินค้าสำคัญเช่น อาหาร เชื้อเพลิง และยาให้กับประชาชนจำนวน 22 ล้านคน ในขณะเดียวกัน ยังเกิดวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นประมาณ 50% โดยราคาอาหารพุ่งขึ้นจากปีที่แล้วถึง 80% ค่าเงินรูปีมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินหลักอื่น ๆ ทั่วโลกในปีนี้

มีการโทษอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาว่า บริหารเศรษฐกิจผิดพลาด และการระบาดของโควิดทำให้ผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ รุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากศรีลังกามีหนี้พอกพูนเป็นจำนวนมาก จนในเดือนที่ผ่านมา ได้กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิกในรอบ 20 ปีที่ผิดนัดชำระหนี้ต่างชาติ

แม้มีความพยายามที่จะเจรจาขอกู้เงินกับไอเอ็มเอฟเป็นเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์ แต่การเจรจาก็ไม่มีความคืบหน้าจนบัดนี้ เนื่องจากมีความวุ่นวายทางการเมือง

ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ย การอ่อนค่าของสกุลเงินต่าง ๆ  ระดับหนี้ที่สูง และทุนสำรองต่างประเทศที่ร่อยหรอลง ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอื่น ๆ ในเอเชียเช่นกัน โดย จีนเป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาเหล่านี้ จึงมีการโทษรัฐบาลปักกิ่งที่กระตุ้นและสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีราคาแพงแต่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่คุ้ม

ในกรณีของศรีลังกา จีนได้สนับสนุนทางการเมืองแก่ตระกูลราชปักษาและนโยบายของประธานาธิบดีราชปักษา แต่เมื่อเกิดความล้มเหลวทางการเมืองก็ทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย นักวิเคราะห์มองว่า ศรีลังกาไม่น่าจะตื่นจากฝันร้ายได้จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาด้วยการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และวัฒนธรรมทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ประเทศอื่น ๆ ที่อาจจะตกอยู่ในภาวะเดียวกับศรีลังกา ได้แก่ ลาว ปากีสถาน มัลดีฟส์ และบังกลาเทศ

ในกรณีของลาว ได้เผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ต่างชาติเป็นเวลาหลายเดือน และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเพราะการรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ซัพพลายเชื้อเพลิงตึงเครียดเพิ่มขึ้น จนทำให้ต้นทุนอาหารในประเทศที่ประชากรหนึ่งในสามจากจำนวนกว่า 7.5 ล้านคนมีความยากจน สูงยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกันเงินกีบได้อ่อนตัวลงมากกว่าหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่า เมื่อเดือน ธันวาคมที่ผ่านมา ลาวมีทุนสำรองประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ แต่จำนวนหนี้ภายนอกทั้งหมดต่อปีก็มีจำนวนพอ ๆ กันจนถึงปี 2568 หรือเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ภายในประเทศทั้งหมด ด้วยเหตุนี้มูดีส์จึงลดเกรดตราสารหนี้ลาวไปอยู่ที่เกรด “ขยะ” เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูง

หนี้สาธารณะของลาวมีสัดส่วน 88% ของจีดีพีในปีที่ผ่านมา โดยเกือบครึ่งเป็นหนี้จีน ซึ่งได้ให้เงินกู้จำนวนมากเพื่อทำโครงการใหญ่ ๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำและทางรถไฟ ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งได้เข้าควบคุมโครงการในลาว ถึง 813 โครงการโดยมีมูลค่ามากกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์เฉพาะปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ปัญหาของลาว เกิดจากการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดมานานหลายปีของพรรคปฏิวัติประชาชนลาว ที่ครองอำนาจแต่เพียงพรรคเดียวมาตั้งแต่ปี 2518 อย่างไรก็ดี มูดีส์ อนาลีติกส์ มองว่า การค้าที่เพิ่มขึ้นกับจีนและการส่งออกไฟฟ้าพลังน้ำเป็นการพัฒนาในเชิงบวก ลาวมีโอกาสหลีกเลี่ยงอันตรายและความจำเป็นในการให้ขอความช่วยเหลือทางการเงินได้

ปากีสถานก็มีปัญหาทุนสำรองตกต่ำเช่นเดียวกับลาวและศรีลังกา โดยเหลือเพียงครึ่งหนึ่งตั้งแต่เดือน สิงหาคมที่แล้วนอกจากนี้ ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นประมาณ 90% นับตั้งแต่ปลายเดือน พฤษภาคมหลังรัฐเลิกอุดหนุน ในขณะนี้ปากีสถานกำลังพยายามคุมการใช้จ่ายในขณะเดียวกันก็เจรจาขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะต่ออายุเงินกู้เชิงพาณิชย์กับจีนเพื่อเพิ่มทุนสำรองต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ส่วนมัลดีฟส์มีหนี้สูงกว่า 100% ของจีดีพี แต่ปัญหาใหญ่มาจากการระบาดของโควิดซึ่งทำลายรายได้หลักที่มาจากการท่องเที่ยว ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมีแนวโน้มมีอัตราหนี้สาธารณะสูงขึ้นและมีความเปราะบางเป็นพิเศษเมื่อราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจไม่มีความหลากหลาย เจพีมอร์แกนคาดว่ามัลดีฟส์เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ราวปลายปีหน้า

สำหรับบังกลาเทศ เมื่อทุนสำรองลดลง ได้เร่งคุมการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็น คลายระเบียบเพื่อให้ผู้อพยพในต่างประเทศส่งเงินกลับบ้าน และลดการเดินทางไปต่างประเทศของเจ้าหน้าที่ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รัฐบาลจึงมีปัญหาในการเพิ่มเงินอุดหนุน นักวิเคราะห์เอสแอนด์พีมองว่า บังกลาเทศต้องปรับการใช้จ่ายของรัฐบาลใหม่และจำกัดกิจกรรมของผู้บริโภค

บทเรียนจากศรีลังกาและปัญหาที่ตั้งเค้าจะเกิดขึ้นในแบบเดียวกันในหลายประเทศที่เอ่ยมา เป็นการชี้ให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้มากและมีรากฐานอ่อนแอ มีความเสี่ยงเป็นพิเศษเมื่อเกิดวิกฤติโลก ในขณะเดียวกัน ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดมานาน ก็เป็นไฟสุมเชื้อให้วิกฤติลุกลามบานปลายรวดเร็วขึ้นจนตั้งรับไม่ทัน

Back to top button