ตลาดหุ้นเผชิญ ‘มรสุมการลงทุน’

ผ่านไปเกือบ 3 สัปดาห์ของเดือนกรกฎาคม การลงทุนในตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในภาวะเงียบเหงา ดัชนีตลาดทรง ๆ ทรุด ๆ เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสามก้าว


เส้นทางนักลงทุน

ผ่านไปเกือบ 3 สัปดาห์ของเดือนกรกฎาคม การลงทุนในตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในภาวะเงียบเหงา ดัชนีตลาดทรง ๆ ทรุด ๆ เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสามก้าว มีมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) ต่อวันราว ๆ 4-6 หมื่นล้านบาท นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจและเกาะติดทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ แต่ถือว่าปัจจัยภายนอกน่าจะรุนแรงและส่งผลกระทบมากกว่า

ในสภาพตลาดหุ้นเช่นนี้ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เรียกว่า อยู่ในภาวะ “Investment Storm 2022” หรือ “มรสุมของการลงทุน” โดยมองว่าภายหลังปรากฏตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ล่าสุดเดือนมิถุนายนออกมา โดยเงินเฟ้อทะยานขึ้นไป 9.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นสถิตินิวไฮในรอบ 40 ปี จากแรงผลักดันของราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ราคาอาหาร ค่าเช่ารถยนต์ ไปจนถึงค่าเช่าห้องในโรงแรม พุ่งสูงขึ้นมาก ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนมากขึ้น

เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ นี้เป็นการทะยานขึ้นต่อเนื่อง จากในเดือนพฤษภาคมที่สูงถึง 8.6% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับจากเดือนธันวาคม 2524 และยังเพิ่มต่อเนื่องอีก 1.3% ในเดือนมิถุนายน มาเป็น 9.1% จะส่งผลกระทบอย่างโหดร้ายต่อสถานะการเงินของครอบครัวชาวอเมริกัน เพราะค่าใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นจะสูงขึ้นรวดเร็วจนแซงรายได้

จากตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวนักลงทุนกังวลว่าการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจนำไปสู่ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากเฟดคงต้องตัดสินใจใช้ยาแรงขึ้นในการสกัดกั้นเงินเฟ้อ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FOMC จะจัดให้มีประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้

กูรูส่วนใหญ่วิเคราะห์ว่าเฟดน่าจะใช้ยาแรงต่อเนื่อง ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75-1.0 % จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 1.5-1.75% เพื่อชะลอการใช้จ่ายภาคธุรกิจและการบริโภค พร้อมทั้งชะลอเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

ส่วนธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB จะมีการประชุมในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ซึ่งคาดหมายว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หรือ 0.50%

“กอบศักดิ์” แสดงความเห็นว่า จากตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ทำให้ในการประชุมรอบนี้เฟดคงต้องคิดหนัก เนื่องจากการใช้ยาแรงของเฟดได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial), แนสแดก (Nasdaq) และ เอส แอนด์ พี 500 (S&P 500) ถอยลงไปอยู่ในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงระยะเวลากว่า 6 เดือน (มกราคม-15 กรกฎาคม) ของปี 2565

โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับลดลงมา 15-16%, แนสแดกปรับตัวลดลงประมาณ 30% ขณะที่ปัจจุบันนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมีเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งยังมีโอกาสปรับตัวลดลงได้อีกพอสมควร

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ความไม่มั่นใจของนักลงทุนได้สะท้อนผ่านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กันยายน 2565) ที่ลดลง 23.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ระดับ 64.57 นับเป็นเกณฑ์ “ซบเซา” เป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ซึ่งชี้ว่านักลงทุนขาดความเชื่อมั่นด้านการลงทุน

พร้อมทั้งระบุว่า ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก เช่น ความกังวลในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงเป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะด้านพลังงานในยุโรป รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ประเทศไทยเองก็ยังมีปัจจัยในประเทศ เช่น การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อของไทยที่พุ่งไป 7.66% ในเดือนมิถุนายน และสถานการณ์การระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ คือ BA.4 และ BA.5 ด้วย

นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว “กอบศักดิ์” ระบุว่า การที่ค่าเงินหลาย ๆ สกุล รวมถึงค่าเงินบาทได้ทำระดับต่ำสุดหรือนิวโลว์อย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าบริบทของการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ในปีนี้ไม่ง่าย เพราะการปรับตัวของสินทรัพย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีปัจจัยภายนอกที่คาดเดาไม่ได้ซึ่งมีผลรุนแรง ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้แม้กระทั่งกองทุน Hedge Fund ที่เก่งยังขาดทุนจากการลงทุนได้

เงินบาทของไทยอ่อนค่ามาก โดยทำสถิติอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2549 ทะลุ 36.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ณ 15 กรกฎาคม 2565) รวมทั้งยังมีแนวโน้มว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าหลุด 37 บาทต่อดอลลาร์ลงไปอีก ซึ่งสวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างมาก ทำให้นักลงทุนเทขายทุกสินทรัพย์ หันมาถือดอลลาร์เพื่อความปลอดภัย

แม้ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติจะทำยอดซื้อสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันกว่า 1.13 แสนล้านบาท แต่จะเห็นว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ของเดือนกรกฎาคม นักลงทุนต่างชาติเริ่มจะขายออกจนทำให้ในเดือนนี้มียอดเก็บหุ้นไทยสะสมเพียง 792.13 ล้านบาท (1-18 กรกฎาคม) ซึ่งเป็นตัวเลขไม่มาก รวมทั้งยังต้องติดตามช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ว่านักลงทุนกลุ่มนี้จะยังคงซื้อมากกว่าขายต่อไปหรือไม่

ขณะที่ผลสำรวจของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยชี้ว่าแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3 ปีนี้ จะไม่สดใส ดัชนีตลาดจะแกว่งตัว (ไซด์เวย์) อยู่ที่ 1,569 จุด แม้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ดัชนีตลาดจะประคองตัวเองได้ดี ลดลงเพียง 100 จุด จากระดับ 1,660 จุด หรือลดลงระดับ 6%

และคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1,664 จุดได้ ในไตรมาส 4 เพราะมีปัจจัยบวกการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ปัจจุบันราคาหุ้นบางบริษัทปรับลดลง สูงสุดถึง 75% ดังนั้นนักลงทุน VI หรือนักลงทุนที่สนใจเลือกลงทุนในหุ้นคุณค่า (Value Stock) จะเข้ามาเก็บสะสมหุ้น โดยมี 3 กลุ่มที่โดดเด่น คือ กลุ่มอาหาร, ท่องเที่ยว และธนาคาร

อย่างไรก็ตาม “กอบศักดิ์” ทิ้งท้ายว่า การลงทุนในตลาดหุ้นช่วงนี้นักลงทุนควรลงทุนแบบ “ระมัดระวัง” ถนอมเงินต้นให้มากที่สุด เพราะ “มรสุมยังไม่จบ” จนกว่า “เงินเฟ้อ” จะถึงจุดพีก

Back to top button