จาก FOMC สะท้อนทิศทางกนง.!?

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 2.25%-2.50% หลังเริ่มต้นสู่ปี 2565


ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 2.25%-2.50% หลังเริ่มต้นสู่ปี 2565 ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% เพื่อการต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยการประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ถือเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน หลังปรับขึ้นอัตราเดียวกันสู่ระดับ 1.5%-1.75% เมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ท่ามกลางตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง และนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา

โดย FOMC ยืนยันหนักแน่นที่จะดึงตัวเลขเงินเฟ้อแตะเป้าหมาย 2% และการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องถือว่า “เหมาะสมแล้ว” แต่อาจชะลอความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต โดยอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงขึ้นสะท้อนถึงความไม่สมดุลระหว่างอุปทานกับอุปสงค์อันเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้นและแรงกดดันด้านราคาขยายวงกว้างขึ้น

มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีนี้สู่ระดับ 2.8% จากเดิมระดับ 4.0% และคงตัวเลขคาดการณ์ปี 2566-2567 ที่ระดับ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ และคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวระยะยาวที่ระดับ 1.8% พร้อมปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปีนี้สู่ระดับ 1.9% และปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ปี 2566-2567 สู่ระดับ 2.8% และ 2.8% ตามลำดับ พร้อมกันนี้มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสู่ระดับ 2.4%

ขณะเดียวกันมีการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปีนี้สู่ระดับ 4.3% พร้อมปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ช่วงปี 2566-2567 สู่ระดับ 2.7% และ 2.3% ตามลำดับ และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวที่ระดับ 2.0% นอกจากนี้ยังคงตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานในปี 2565-2566 ที่ระดับ 3.5% ขณะที่ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ในปี 2567 สู่ระดับ 3.6% และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานระยะยาวที่ระดับ 4.0%

สัปดาห์ก่อนหน้ามีการรายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.5 ในเดือน ก.ค. ถือเป็นระดับต่ำสุดรอบ 26 เดือนจากระดับ 52.3 ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ตัวเลขดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นตัวบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐฯ อยู่ในภาวะหดตัวถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 โดยถูกกดดันจากภาวะหดตัวในภาคบริการ ส่วนภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน

มุมมองจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ครั้งนี้ ถือเป็นวงจรการคุมเข้มทางการเงินครั้งรุนแรงสุด นับตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 80 ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (Stagflation) ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2565-2566 พร้อมเตือนว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่รุนแรงและผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวของธนาคารกลางสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางแข็งค่า ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ที่ดำเนินนโยบายการเงินสวนทางกำลังเผชิญทิศทางค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

จากกรณีดังกล่าวมีความเป็นได้สูงว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.50% สำหรับการประชุมวันที่ 10 ส.ค. 2565 หลังจากดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.25% มาตั้งแต่ 20 พ.ค. 2563 โดยปีนั้นกนง.มีมติลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ๆ ละ 0.25% เพื่อช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 และเพื่อให้สอดรับกับมาตรการด้านการคลัง การเงินและสินเชื่อของรัฐบาล

แต่การประชุมกนง.ที่เหลืออีก 2 ครั้งปีนี้จะขึ้นต่อเนื่องหรือไม่..ติดตามกันต่อไป..!?

Back to top button