พาราสาวะถี

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับสิ่งที่ได้ฟัง จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นถึงการที่ศาลฯ มีมติรับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน


ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับสิ่งที่ได้ฟัง จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านไว้วินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ ปม 8 ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ พร้อมมติเสียงส่วนใหญ่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว กับสิ่งที่จรัญอธิบายในแง่ของกฎหมายว่า เหตุที่ศาลสั่งเช่นนี้เพราะต้องดู Balance of Convenience หรือ ดุลยภาพระหว่างประโยชน์ หรือโทษของการที่จะให้วิธีชั่วคราวด้วย

ไม่ต้องมองไปถึงว่าผลจากมติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา จะทำให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีนี้ไปในทิศทางที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะต้องพ้นจากตำแหน่ง อย่างที่จรัญบอกนั่นแหละว่า แม้เรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นผลต่อคดีใหญ่มากมายนัก แต่ดุลยภาพระหว่างประโยชน์ หรือโทษของการที่จะให้วิธีชั่วคราว ก็มีผลอยู่ดี ดังนั้น จากการประเมินผลจากประสบการณ์ส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับหลักวิชาอะไร คิดว่า ประเมินน้ำหนักคดีนี้ที่  60 ต่อ 40

แน่นอนว่า 60 ในมุมของจรัญนั้น คือ การตัดสินใจสั่งให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น เพื่อหยุดความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากวาระ 8 ปีหากนับตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 มันก็ครบกำหนดไปแล้ว หากไม่ตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง สถานการณ์ทางการเมืองมันอาจจะเลวร้ายได้ ส่วนกระบวนการในการตัดสินคดีหลังจากนี้ ก็ต้องไปว่ากันอีกครั้ง สถานการณ์อาจเป็นตัวแปรหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่เป็นคำวินิจฉัยในเวลานั้นต้องขจัดข้อสงสัยทั้งหมด โดยยึดเอาเนื้อหาสาระที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เพราะนี่คือบรรทัดฐานที่จะต้องยึดปฏิบัติกันต่อไป

ส่วนประเด็นที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแต่ละเรื่องโดยอาศัยสถานการณ์เป็นตัวชี้วัดนั้น บทสัมภาษณ์ของจรัญเป็นเพียงแค่การช่วยยืนยันว่ามีการตัดสินแต่ละคดีแบบนี้จริง เพราะก่อนหน้านั้น วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญเคยออกมายอมรับว่า คราวที่ตัดสินยุบ 3 พรรคการเมืองคือ พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตยนั้น ยึดตามกระแสของม็อบที่กดดันเพื่อความสงบของบ้านเมือง คงไม่ต่างจากการเปิดพจนานุกรมตัดสินคดี สมัคร สุนทรเวช ให้พ้นจากเก้าอี้นายกฯ นั่นแหละ

ความจริงกรณีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ใช่เพียงแค่มองในมุมที่ว่ามีม็อบออกมาเคลื่อนไหว อันเป็นสัญญาณที่เกรงว่าจะนำไปสู่การบานปลายทางการเมือง หากจะยึดหลัก Balance of Convenience แล้ว ก็ต้องไปดูด้วยว่า สิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ต่อการไม่ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ในวาระเกิน 8 ปี เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตจากการอยู่นานนั้น เมื่อนำมาพิจารณาในแง่ดุลยภาพระหว่างประโยชน์ก็ย่อมเห็นแล้วว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ในเก้าอี้ผู้นำประเทศมานานเกินจนจะก่อให้เกิดวิกฤตตามเจตนารมณ์ของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ รวมไปถึงการอยู่จนถึงทุกวันนี้ประชาชนอยู่ดี กินดีกันหรือไม่

เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้าน ประกอบกับสิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น แทบจะไม่ต้องตีความอะไรกันให้เมื่อยตุ้ม ถ้าไม่มีโจทย์ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” มาเป็นตัวบังคับ ส่วนใครที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพิจารณาตัวเองเพื่อความสง่างามนั้น บอกได้อย่างเดียวว่าฝันไปเหอะ คนที่ไม่ทำตามสัญญาทั้งขอเวลาอีกไม่นาน จนไม่รู้ว่าคืนความสุขให้ประชาชนแล้วตอนไหน เห็นแต่คนทุกข์กันทั้งประเทศ ยังจะมีเครดิตอะไรมาให้เชื่อถือกันอีกอย่างนั้นหรือ

นอกจากจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว ผลของการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีนี้ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยังมีหัวโขนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งหัวโต๊ะประชุมบรรดาผู้นำเหล่าทัพได้อยู่ ก็จะเป็นตัวสะท้อนว่า เขาเตรียมพร้อมที่จะวางมือหรือวางแผนที่จะสู้กันแบบยาว ๆ ต่อไป อีกด้านก็น่าจับตาการทำหน้าที่นายกฯ แทนน้องเล็กของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ที่มีการมองกันว่าจะเป็นการทำงานแบบ ปฏิบัติราชการแทน หรือ รักษาราชการแทน

ทั้งสองแบบนั้นมีความแตกต่างกันอย่างที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. แจกแจงช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไป ปฏิบัติราชการแทน คือ การที่คุณมอบอำนาจให้อีกคนทำงานแทนคุณ เพื่อแบ่งภาระในการทำงาน เช่น นายกฯ มอบให้รองนายกเป็นประธานกรรมการ  หรือมอบหมายให้ลงนามแทน ดังนั้น คนปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจเต็มเท่านายกฯ ส่วนรักษาราชการแทน เป็นเรื่องผู้มีตำแหน่งไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวแต่เดี๋ยวก็กลับมา เช่น ป่วย ไปราชการต่างประเทศ ถูกสั่งให้พ้นหน้าที่เป็นการชั่วคราว  คนที่มารักษาราชการแทนแม้มีอำนาจเต็ม แต่ส่วนใหญ่จะเกรงใจ ไม่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญ

เหมือนเจ้าของบ้านไม่อยู่ให้เราเฝ้าบ้านแทน หน้าที่เราจึงเพียงคอยดูแลบ้านให้เรียบร้อย ไม่ใช่ใช้อำนาจที่มีปลดยาม เปลี่ยนแม่ครัว เอาใครต่อใครเข้ามาอยู่ จัดงานสังสรรค์จนบ้านเละเทะ ต่อคำถามที่ว่าปรับ ครม.ได้ไหม ยุบสภาได้ไหม  แต่งตั้งโยกย้ายได้ไหม สำหรับผู้รักษาแทนนายกฯ คำตอบคือทำได้ แต่ควรทำหรือไม่  เป็นเรื่องที่ว่าสิ่งที่อยู่ในใจคือ “นี่คือโอกาสที่รอมานาน” หรือ “พี่มาดูบ้านให้น้องชั่วคราว” สำหรับพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ถ้าเลือกวิธีหลังก็จะเข้าทางพวกที่กำลังด้อยค่าอยู่เวลานี้ว่า การที่ได้พี่เข้ามาทำงานแทนน้องก็ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน มีทีมกุนซือจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนให้พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.รักษาการแบบปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ด้วยการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศชาติและราษฎร และ บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐธรรมนูญตลอดจนกฎหมาย เหมือนอย่างที่บอกไปวันก่อน ถ้าทำแบบนี้มันจะหมายถึงการลองงาน จะเป็นการโชว์ให้ประชาชนได้ลองได้ชิมว่า หลังเลือกตั้งถ้ามีโอกาสเป็นนายกฯ พี่ใหญ่ที่ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่เอา ไม่ไหว ถึงเวลานั้นจริงจะบริหารบ้านเมืองได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม คงไม่ถึงขั้นที่บรรดาฮาร์ดคอร์ทั้งหลายพากันยุส่ง ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองที่มองเห็นแล้วว่ามีความยุ่งยาก วุ่นวายทางการเมือง พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ก็ใช้อำนาจที่มีประกาศยุบสภาให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลย แล้วไปวัดกันหลังเลือกตั้ง แม้ความเป็นไปได้จะไม่มี แต่เรื่องการยุบสภานั้นจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะถ้าอยู่กันครบวาระพวกจะเปลี่ยนสีเสื้อย้ายพรรคลำบาก เพราะติดว่าต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง แต่ถ้ายุบสภาการย้ายเข้าพรรคใหม่มีกรอบเวลาแค่ไม่น้อยกว่า 30 วันเท่านั้น

Back to top button