พาราสาวะถี

วันที่ 17 กรกฎาคมนี้ มีการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประจำสัปดาห์ ประเด็นที่ต้องติดตามคงหนีไม่พ้นกรณีคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาปมคลิปเสียงคุยกับ ฮุน เซน ของ แพทองธาร ชินวัตร


วันที่ 17 กรกฎาคมนี้ มีการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประจำสัปดาห์ ประเด็นที่ต้องติดตามคงหนีไม่พ้นกรณีคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาปมคลิปเสียงคุยกับ ฮุน เซน ของ แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมให้ส่งเอกสารชี้แจงภายใน 15 วัน ถือว่าครบกำหนดแล้ว ตามกระบวนการและถือเป็นแทคติกในการสู้คดี คงมีการยื่นขอขยายเวลาในการส่งคำชี้แจง ตามขั้นตอนเมื่อเป็นครั้งแรกส่วนใหญ่ศาลจะอนุญาตอยู่แล้ว

การให้สัมภาษณ์ของ “หมอมิ้ง” นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ เป็นตัวบ่งชี้ว่าคงหนีไม่พ้นแนวทางนี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูล สิ่งที่น่าจับตามองคงเป็นเรื่องประธานคณะทำงานด้านกฎหมายที่จะต่อสู้ในคดีที่พบว่ามีชื่อของ วิษณุ เครืองาม เข้ามาเกี่ยวข้อง คงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือยาสามัญประจำแทบจะทุกรัฐบาล เนื่องจากความเป็นซือแป๋ด้านกฎหมายย่อมมีมุมมอง หรือข้อคิดเห็นที่น่าจะช่วยพลิกสถานการณ์ได้

อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวคงไม่ได้สวมบทเป็นทนายความในคดีนี้ แต่ความเห็นหรือข้อชี้แนะนั้น อยู่ที่ทีมทนายจะนำไปต่อสู้เพื่อให้คำชี้แจงของนายกฯ หญิงมีน้ำหนักมากพอ จนศาลยกคำร้อง ด้วยความที่กลไกขององค์กรอิสระถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝักฝ่ายทางการเมืองมาโดยตลอด เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิจารณ์อื้ออึง เป็นคดีการเมือง มีการใช้นิติสงครามเพื่อทำลายล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ประเด็นนี้ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ รีบปฏิเสธ พร้อมชี้แจงว่า คดีที่มาจากองค์กรอิสระด้วยกัน เช่น ป.ป.ช. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคดีที่มาจากสมาชิกรัฐสภา คือคดีที่ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ศาลต้องรับคดีไว้พิจารณา จนประชาชนทั่วไปเรียกว่าคดีการเมือง แต่สำหรับตนขอเรียกว่าคดีรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เป็นคดีการเมืองหรือไม่ คนส่วนใหญ่คงไม่ได้โฟกัสตรงนั้น แต่ที่สงสัยคงจะเป็นกรณีหลายคดีถูกมองกระบวนการร้องเรียน และบทสรุปถือเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะในยุคเผด็จการต่อเนื่องเผด็จการสืบทอดอำนาจ คำอธิบายของประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า ศาลมีกระบวนการพิจารณา ต้องฟังความเห็นทุกฝ่าย มีขั้นตอนการชี้แจงต่างๆ อีกมากมาย ต้องทำงานตามขั้นตอน ไม่ใช่การตัดสินด้วยอารมณ์ ต้องว่ากันตามกฎกติกา ที่ผ่านมาหลายเรื่องน่าจะฟังความได้แค่ครึ่งเดียว

ในอดีตมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางรายยอมรับเองว่า บางเรื่องเป็นการตัดสินตามกระแสสังคมที่กดดัน โดยเฉพาะกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกตราหน้าว่าเป็นม็อบมีเส้น และฝ่ายถูกเล่นงานที่ทุกครั้งที่ถูกร้องเรียน สามารถฟันธงได้ล่วงหน้าได้เลยยังไงก็ไม่รอด เพียงแต่หลังยุคเผด็จการคสช.อาจเปลี่ยนตัวผู้ถูกกระทำจากพรรคนายใหญ่ ฝ่ายสีแดง เป็นพรรคสีส้ม ฝ่ายสุดโต่งแทนเท่านั้นเอง ไม่มองแบบโลกสวยต้องยอมรับความจริงกันว่า องค์กรอิสระแห่งนี้ยังมีเครื่องหมายคำถามเรื่องความเชื่อถือ ศรัทธานั่นเอง

ประเด็นร้อนที่กระทรวงมหาดไทยภายใต้การบังคับบัญชาการของ “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย ที่มีหัวโขนรักษาราชการแทนนายกฯ ด้วยนั้น หนีไม่พ้นการทวงคืนที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ จากเดิมปรากฎข่าว จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสะสางเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ทางบิ๊กอ้วนยืนยัน ให้เวลา พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ชี้แจงภายในเวลา 7 วัน เหตุใดจึงเปลี่ยนแปลงคำสั่งของศาลปกครองและศาลฎีกา หากภายใน 7 วันไม่มีความชัดเจน จะเซ็นตั้งคณะกรรมการทันที

ถ้ายึดตามจดหมายของมท.1ที่ส่งไปคือพฤหัสบดีที่ผ่านมา ก็จะครบกำหนดภายในวันสองวันนี้ ถ้าไม่มีสัญญาณตอบรับจากอธิบดีกรมที่ดิน บิ๊กอ้วนจะสั่งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยดำเนินการตั้งคณะกรรมการด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการทำให้เรื่องนี้เกิดความชัดเจน ถ้าชัดเจนสังคมก็จะเกิดความสบายใจ ต้องไปถามว่าเหตุผลใดจึงไม่ดำเนินการตามคำสั่งของศาล โดยเฉพาะคำตัดสินของศาลปกครองและศาลฎีกา ส่วนจะกระทบต่อเก้าอี้อธิบดีกรมด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับปัญหา หากทำสิ่งที่ดีก็ไม่มีผลกระทบ แต่หากไปทำอะไรนอกกรอบ หรือนอกความจำเป็น หรือไปเอื้อประโยชน์ต่อใครก็จะมีผลกระทบแน่นอน

ถือเป็นของร้อนอย่างแท้จริง และการขับเคลื่อนหนนี้ก็เป็นจังหวะดีเสียด้วย เพราะล่าสุด ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือรฟท. ที่ฟ้องกรมที่ดินให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง 590 แปลง โดยระบุว่า ที่ดินดังกล่าวนี้ศาลปกครองสูงสุด และศาลฎีกา ได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นของการรถไฟฯ จึงฟ้องซ้ำอีกไม่ได้ ขณะเดียวกัน ศาลรับฟ้องข้อกล่าวหาที่ว่า กรมที่ดินมีคำสั่งยุติเรื่องไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง

ดังนั้น หากมท.1สั่งตั้งกรรมการสอบอธิบดีกรมที่ดิน และผู้เกี่ยวข้อง กรณีละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่เพิกถอนโฉนดที่ดินตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาล จึงเป็นความชอบธรรม และเป็นเกราะป้องกันข้อโจมตีที่ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเกมการเมือง ไล่ล่าพรรคที่เพิ่งพ้นจากความเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไป นอกจากนี้ ก็จะเป็นการจุดตั้งต้นให้รฟท.เดินหน้าเอาคืนที่ดินที่เป็นปัญหา เพราะศาลปกครองยืนยันแล้วว่า ศาลปกครองสูงสุด และศาลฏีกาได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ

กระบวนการของรฟท.คงเป็นเรื่องการบังคับคดีเพื่อเข้าไปครอบครอง และทำประโยชน์จากที่ดินที่เป็นปัญหา ส่วนจะเกิดการเจรจาขอเช่าพื้นที่หรือมีมาตรการช่วยเหลือ ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับหลักฐานของผู้ครอบครองแต่ละราย ในแง่ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเชื่อแน่ว่ารัฐบาล และภาครัฐคงมีมาตรการดูแล ส่วนตระกูลใหญ่ที่ถือครองที่ดินแห่งนี้และมีการลงทุนไปมหาศาล กลายเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่นั้นต้องแยกเจรจาต่างหาก โดยที่ไม่ใช้ประชาชนมาเป็นตัวประกันเหมือนที่ผ่านมา

อรชุน

Back to top button