ขายฝันไปวัน ๆ

ราคาหุ้นที่มีคนบางคนลากขึ้นไปเกินกว่า 20% ในช่วงสามวันทำการของสัปดาห์นี้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของหุ้นที่เคยเด่นดัง


หลังจากนายพีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY ออกมาคาดเดาว่าจะสามารถพลิกสถานการณ์แนวโน้มธุรกิจปี 65 ตั้งเป้าเทิร์นอะราวด์ หลังจากที่ขาดทุนต่อไปอีกโดยในไตรมาส 1/65 คาดว่าผลประกอบการจะมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ เป็นผลจากกระแสตอบรับที่ดีจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การปรับช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ BEAUTY ก็ทะยานแรงสวนตลาดขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 2 เดือนที่ระดับราคา 1.46 บาท ทำให้ราคาหุ้นที่ทะยานในสามวันถึง 10%

ประหนึ่งคำพูดของนักการตลาดจะได้รับการขานรับอย่างดีเยี่ยม ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วนายพีระพงษ์ พูดแบบ “ฉายหนังซ้ำชนิดนกแก้วนกขุนทองธรรมดา”

หากลองย้อนกลับไป คำกล่าวของนายพีระพงษ์ที่บอกว่า บริษัทจะพลิกกลับมากำไรจากเทิร์นอะราวด์ทุกไตรมาสที่มีผลการขาดทุนจนกระทั่งราคาตามบุ๊กแวลูล่าสุดต่ำติดพื้นจากการที่ตัวเลขขาดทุนสะสมกับสูงขึ้น…ไม่ต่างอะไรกับคำกล่าวของศรีธนญชัยที่ในกรงขังว่า “กูไม่ยอม ๆ ๆ ๆ” เพื่อหลอกพ่อค้าจีนเรื่องที่ถูกคุมขังว่าตนเองไม่ยอมเป็นกษัตริย์จึงถูกคุมตัวจนพ่อค้าจีนแลกตัวให้ตนเองเข้ากรงขังแล้วตะโกนใหม่ว่า “กูยอมแล้ว ๆ ๆ ๆ”

นายพีระพงษ์ เคยกล่าวถึงการปรับร้าน General Trade ทั้งในรูปแบบวางจำหน่ายสินค้าในร้านค้า รูปแบบ Store in Store และการกระจายสินค้าสู่ร้าน Modern Trade ขณะที่ตลาดต่างประเทศฟื้นตัว และมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนธุรกิจสูตรสำเร็จที่ว่าแผนในปี 2565 บริษัทได้กำหนด 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ (Re Model) 2.ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ (Refresh Branding) 3.ปรับโครงสร้างบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ (Re Structuring) เพื่อพัฒนาธุรกิจให้กลับมาแข็งแกร่งภายใน 3 ปี

ในขณะเดียวกัน BEAUTY ได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตปี 2565 รายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 65% หรือ อยู่ที่ประมาณ 680 ล้านบาท และรักษาอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 10% และมีสัดส่วนรายได้แบ่งตามช่องทางการจัดจำหน่าย ประกอบด้วย ช่องทางต่างประเทศ 37% ช่องทางค้าปลีก (Retail) 27% ช่องทางค้าส่ง (Trading) 24% และช่องทาง E-Commerce 12% แล้วก็แบ่งตลาดในประเทศ บริษัทจะเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในกลุ่ม BEAUTY & WELLNESS ออกสู่ตลาดแมส (Mass Market ) อย่างเต็มรูปแบบผ่านตัวแทนจำหน่าย 13 รายใหญ่ทั่วประเทศ สู่ร้าน General Trade และ Modern Trade

ขณะที่ BEAUTY BUFFET SHOP จะมีการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทั้ง 50 แห่งทั่วประเทศ ภายในไตรมาส 2/65 อีกทั้ง บริษัทจะมีการสื่อสารการตลาดด้วยภาพลักษณ์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์แบบ O2O เต็มรูปแบบ และพรีเซนเตอร์ที่หลากหลาย ส่วนช่องทางตลาดต่างประเทศ จะเน้นกระจายสินค้าเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ และทำการตลาดให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในวงกว้างร่วมกับตัวแทนจำหน่ายมากขึ้น เพิ่มเติมจากตลาดเดิมที่มีอยู่ 13 ประเทศ

แผนที่นายพีระพงษ์เคยกล่าวไว้ไม่เคยบรรลุเลย เข้าข่ายแผนที่มีไว้แต่เป็นไปไม่ได้ ดังจะเห็นจาก

สำหรับผลประกอบการปี 2564 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 411.8 ล้านบาท ลดลง 47.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 786.8 ล้านบาท ขาดทุนทางบัญชีสุทธิ 80.8 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 23.0 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 104.9 ล้านบาท ผลขาดทุนที่ลดลงเนื่องจากการปรับกลยุทธ์แนวทางบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ควบคุมต้นทุนการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายในการบริหาร รวมถึงลดขนาดองค์กรให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ

แต่การที่ BEAUTY เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก 2565 รายได้รวม 193.3 ล้านบาทลดลงกว่าระยะเดียวกันปีก่อน มีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 28.7 ล้านบาท ลดลง 42.9 % เนื่องจากระบบการค้าในประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายพีระพงษ์ก็ยังคงดั้นเมฆออกมากล่าวถึงในภาพรวมจะมีสัญญาณดีขึ้น ในลักษณะค่อย ๆ ฟื้น แล้วคาดครึ่งปีหลังพลิกมีกำไร แนวโน้มครึ่งปีหลังธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ยอดขายทั้งในและต่างประเทศทยอยฟื้นทุกช่องทางจำหน่าย เดินหน้าพัฒนาช่องทางจำหน่ายทุกรูปแบบ บุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ ปั๊มยอดขาย

การขายฝันขณะที่สถานการณ์ทางการเงินย่ำแย่ลงจากตัวเลขขาดทุนสะสมที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับบุ๊กแวลูที่ลงมาเหลือแค่ 0.25 บาทเท่านั้น เป็นสิ่งที่ทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

ราคาหุ้นที่มีคนบางคนลากขึ้นไปเกินกว่า 20% ในช่วงสามวันทำการของสัปดาห์นี้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของหุ้นที่เคยเด่นดังที่ราคาเคยขึ้นถึงกว่า 40.00 บาทในอดีตเมื่อหลายปีก่อน

Back to top button