พาราสาวะถี

หากมองอย่างเข้าใจและยอมรับกับความเป็นไปของบ้านเมืองในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็น 8 ปีความเป็นนายกรัฐมนตรี


หากมองอย่างเข้าใจและยอมรับกับความเป็นไปของบ้านเมืองในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็น 8 ปีความเป็นนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะรอดหรือร่วง แรงกระเพื่อมคงไม่ต่างกัน เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานขององค์กรอิสระก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด มันสะท้อนถึงภาวะความศรัทธา เชื่อถือที่มีต่อองค์กรเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในฐานะได้รับการยอมรับเหมือนองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาหลังรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540

ดังนั้น การได้ไปต่อหรือไม่ของผู้นำเผด็จการจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป จุดใหญ่ที่คนโฟกัสกันไปล่วงหน้า คือ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว เมื่อยึดตามไทม์ไลน์และกฎเหล็กที่ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.เพิ่งแจกแจงไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ขณะนี้เข้าสู่ห้วง 180 วันอันตรายแล้ว บรรดานักการเมืองและพรรคการเมือง ในที่นี้คงต้องเน้นย้ำไปที่ฝ่ายค้านต้องระวังตัวแจ หากผิดพลาดขึ้นมาแค่นิดเดียวมันส่งผลถึงอนาคตทางการเมืองที่จะดับวูบกันเลยทีเดียว

สิ่งที่อธิบายกันมาโดยเลขาฯ กกต.นั้น คำถามตัวโต “ต้องกำกับให้เป็นไปตามนี้” ไม่มีเลือกปฏิบัติ ต้องอย่าลืมเป็นอันขาดว่าฝ่ายกุมอำนาจนั้น รายล้อมไปด้วยเนติบริกรศรีธนญชัยเมื่อผนวกเข้ากับผู้คุมกติกาที่เป็นกลางกระเท่เร่แล้ว มันจะส่งผลถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในสนามเลือกตั้ง คู่มือกำกับที่ระบุทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอันได้แก่ นายกฯ รัฐมนตรี ไปจนถึงผู้ที่มีตำแหน่งจากการแต่งตั้งทั้งหลาย ต้องไม่อาศัยอำนาจและงบประมาณแผ่นดินไปเอื้อประโยชน์ทางการเมือง

ส่วนหน่วยงานภาครัฐ ข้าราชการ ก็มีข้อห้ามอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติสามารถที่จะบังคับใช้กฎหมายในการที่จะเอาผิดกับผู้ที่วางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง หรือถูกฝ่ายการเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบคู่แข่งได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ กกต.จะต้องพิสูจน์ตัวเอง เพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หากประชาชนให้คะแนน กกต.ในแง่ของความไว้วางใจ การวางตัวเป็นกลางทางการเมือง บอกได้คำเดียวว่าสอบตก ไม่ใช่เหตุผลจากการถูกตั้งมาโดยกลไกของ คสช. แต่การบริหารจัดการเลือกตั้งตั้งแต่การกำหนดเขตเลือกตั้ง วางกติกา จนถึงการตัดสินวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่อาจยอมรับได้

เรื่องกระบวนการทำงานของ กกต. ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงกลัวจะทำงานกันหนักได้กำหนดให้มี กกต.ถึง 7 คนจากเดิม 5 คน แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาทำงานยิ่งกว่าข้าราชการประจำเสียอีก อ้างว่ามีหน้าที่แค่ประชุมพิจารณาเรื่องตามที่ฝ่ายปฏิบัติได้พิจารณาเสร็จแล้ว รวมทั้งใช้อำนาจในการตัดสินประเด็นที่เป็นปัญหาหลัก ๆ อันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเรื่องร้องเรียนนักการเมือง พรรคการเมืองเท่านั้น มิหนำซ้ำ บางเรื่องยังมีพฤติกรรมเหมือนเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายกุมอำนาจอีกต่างหาก

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามที่สำคัญจากอดีต กกต.อย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร ต่อข้อห้ามตามกรอบเวลา 180 วัน หากนักการเมือง พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและหน่วยงานภาครัฐ ฝ่าฝืน ได้วางบทลงโทษไว้อย่างไร  และถ้า กกต.ไม่กำกับให้เป็นไปตามที่วางกติกาไว้ จะมีบทลงโทษอะไร ถือเป็นปุจฉาที่น่าขีดเส้นใต้ แม้ว่าตัวของสมชัยเองคนจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่ลืมต่อท่าทีสมัยที่เป็น กกต.แต่ทำตัวเป็นคณะกรรมการไม่อยากจัดเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามของ กกต.ที่ออกมาและแจกแจงกันโดยละเอียดนั้น สมชัยก็ยังขอคำอธิบายเพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องและชัดเจนกับทุกฝ่าย อย่างแรกคือ การติดป้ายขนาด 1.3 x 2.45 เมตร ที่ระบุจำนวนไว้ว่าได้ 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง  ปัญหาเวลานี้ก็คือ เมื่อใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบได้มีการเปลี่ยนจาก 350 เขต เป็น 400 เขตแล้ว และ กกต.ยังไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วจะทราบจำนวนป้ายที่ติดได้ว่าเป็นเท่าไหร่ได้อย่างไร

ประการต่อมา คือ ป้ายขนาด A3 หรือ 30 x 42 เซนติเมตร ที่ผลิตได้ 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง ปรากฏว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องที่ติด เพราะเดือดร้อนส่วนราชการ เช่น ศาลากลาง อำเภอ เขต อบจ. เทศบาล อบต. สาธารณสุข ที่ต้องใช้งบประมาณในการทำบอร์ดเพื่ออำนวยความสะดวกตามระเบียบที่ออกมา จึงทำกันพอเป็นพิธี ตั้งไว้ในที่ที่ไม่มีคนสนใจ ทำแล้วก็ไม่มีคนมาติด เมื่อเป็นเช่นนั้น กกต.ยังจะใช้กฎเกณฑ์แบบนี้อีกหรือ

นอกจากนั้น เรื่องของป้ายที่ทำกันไว้ก่อนวันที่ 24 กันยายน 2565 หากยังปรากฏในช่วง 180 วัน หลังจากที่ กกต.ได้ประกาศความชัดเจนไปแล้ว จะต้องถูกคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย  มิเช่นนั้น พวกนกรู้ที่เร่งทำก่อนก็สบายไป ตรงนี้หากไม่มีความเกรงใจกัน หรือกลัวว่าจะเป็นการลูบหน้าปะจมูก กกต.ก็ต้องเร่งชี้แจงเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจนกับทุกฝ่าย ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วหลังเลือกตั้งมีการนำมาใช้เล่นงานนักการเมืองบางคน บางพรรค มันยิ่งจะทำให้ กกต.เสียหายหนักเข้าไปอีก

ประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้ และ กกต.ต้องมีคำอธิบายให้กระจ่าง คือ การหาเสียงนอกเวลาราชการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกฯ รองนายกฯ รัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง กรรมาธิการ ที่เปิดโอกาสให้หาเสียงนอกเวลาราชการได้  แต่หากคนเหล่านั้นใช้เครื่องบินที่อ้างว่าบินไปราชการ ทำงานกลางวัน แต่หลังเวลาราชการไปหาเสียง หรือไปราชการวันศุกร์  แล้วเสาร์-อาทิตย์หาเสียง กกต.ต้องกล้าที่จะพูดว่าเช่นนี้ทำไม่ได้ด้วย เพราะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินเดินทาง เอาเปรียบพรรคอื่น

ไม่ว่าสมชัยในฐานะอดีต กกต.จะตั้งข้อสังเกตหรือเรียกร้องอะไรที่สังคมให้ความเห็นไปในทางคล้อยตาม แต่ฝ่ายมีอำนาจไม่ได้สำเหนียกหรือมองเห็นเป็นปัญหา เพราะตั้งตาที่จะดูแลผู้มีพระคุณก็เปล่าประโยชน์ โดยที่ฝ่ายเรียกร้องการปฏิรูปอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ข้ออ้างเพื่อให้เกิดการรัฐประหารนั้น หลังเลือกตั้งแล้วต้องสังคายนาสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยเหล่านี้ องค์กรอิสระจะต้องเป็นผู้พิทักษ์ไว้ซึ่งความยุติธรรม เป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ใช่การสร้างวาทกรรมแทรกแซงองค์กรอิสระ แต่สุดท้ายก็ได้องค์กรอิสระที่มุ่งเล่นงานแต่นักการเมือง พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม พวกที่ไม่ได้สมสู่กับขบวนการสืบทอดอำนาจ

Back to top button