เขื่อนไทยมาตรฐานโลก

เขื่อนไซยะบุรี ที่ดำเนินการโดยบริษัท CKP ร่วมกับกลุ่มบริษัทไทยถือหุ้นในราว 80% และรัฐบาลลาว 20% ก่อสร้างเสร็จและจ่ายไฟเข้าระบบมา 3 ปีเต็มแล้ว


เขื่อนไซยะบุรี ที่ดำเนินการโดยบริษัท ซีเค พาวเวอร์ ร่วมกับกลุ่มบริษัทไทยถือหุ้นในราว 80% และรัฐบาลลาว 20% ก่อสร้างเสร็จและจ่ายไฟเข้าระบบมา 3 ปีเต็มแล้ว

โดยจำหน่ายไฟกลับไทยราวร้อยละ 95 ขายให้กฟผ.หน่วยละ 2 บาท และขายไฟให้การไฟฟ้าลาวเพียง 5%

ผมมีโอกาสได้ไปดูเขื่อนนี้ตั้งแต่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เพิ่งได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมชมอีกครั้งกับคณะนักศึกษาเก่าวิทยาลัยตลาดทุนรุ่นที่ 4 ตามคำเชิญของคุณปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกลุ่มช.การช่าง ซึ่งก็เป็นนักศึกษาวตท.ร่วมรุ่น มาให้การต้อนรับพาชมด้วยตนเอง

เขื่อนไซยะบุรี ขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 1.35 แสนล้านบาท เป็นเขื่อนแบบ Run of River หรือโรงไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน น้ำเข้ามาเท่าไหร่ ก็ไหลออกมาเท่านั้น

ไม่ใช่เขื่อนแบบกักเก็บน้ำ (Storage Dam) ที่พบเห็นโดยทั่วไปในประเทศไทย

ตัวเขื่อนสร้างขวางเต็มลำน้ำ มีช่องทางให้เรือผ่านได้จากการปรับระดับน้ำหน้าเขื่อนและหลังเขื่อน เหมือนที่เคยพบเห็นในแม่น้ำไรน์

ที่สำคัญมี “บันไดปลา” ให้ปลาเคลื่อนไหวได้เสรีทั้งตามน้ำ และทวนน้ำ อีกทั้งยังมีช่องทางระบายตะกอนอันเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี ให้ไหลไปสู่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนใต้ได้

มูลค่าลงทุนบันไดปลา ทางระบายตะกอน รวมทั้งระบบความปลอดภัยรวมทั้งสิ้น 1.9 หมื่นล้านบาท ก็เลยเป็นที่มาของคำล้อเลียนกันเล่น ๆ ว่าเป็น “บันไดปลาโจนหมื่นกว่าล้าน” ที่แพงที่สุดในโลก

น้ำโขงปีนี้มาเยอะมาก ต้นน้ำทางจีนซึ่งมีเขื่อนกักเก็บหลายแห่ง ไม่สามารถจะรับมวลน้ำมหาศาลไว้ได้ ก็ต้องปล่อยระบายลงมาสู่แม่น้ำโขงตอนใต้

วันที่ชาวคณะวตท.ไปถึงในวันที่ 24 .. ระดับน้ำหน้าเขื่อนสูงกว่าระดับน้ำท้ายเขื่อนอยู่ 41 เมตร ยิ่งต่างระดับมากก็ยิ่งดี เทอร์ไบน์หรือกังหันไฟฟ้าทั้ง 8 ตัวหมุนเร็วจี๋ สามารถปั่นกระแสไฟได้จำนวนมากยิ่งขึ้น

ไฟฟ้าราคาถูกจากสาธารณรัฐประชาชนลาวนี้แหละ ช่วยลดค่าต้นทุนผันแปรลงมาได้มาก ไม่เช่นนั้นค่าไฟพุ่งทะลุ 1 บาทแน่นอน ไม่ใช่ 0.93 บาทเช่นที่เรียกเก็บเพิ่มครั้งล่าสุด

สำหรับประเทศเล็กอย่างประเทศลาว มีการลงทุนขนาดใหญ่ระดับ 1.35 แสนล้านบาท อีกทั้งมีการจ้างงานระดับ 10,000 คนตลอดช่วงเวลาก่อสร้าง 8 ปี ถ้าคิดถึงตัวทวีคูณ 5 เท่า (Multiplier) ก็จะก่อเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อประเทศลาวถึง 6.75 แสนล้านบาท

นี่แหละคือรากฐาน GDP ประเทศลาว โดยรัฐบาลจ่ายเงินตามสัดส่วนลงทุนร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท อันไม่ก่อภาระหนี้สินมากมายแต่ประการใด

ประเทศไทยก็ได้ใช้พลังงานสะอาด ที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และเข้าใกล้เป้าหมาย “ซีโร่ คาร์บอน” ในปี ค.ศ. 2050 อีกด้วย

เขื่อนไซยะบุรี นวัตกรรมชิ้นใหม่แห่งแม่น้ำโขง นับเป็นเขื่อนมาตรฐานระดับโลกที่สร้างโดยฝีมือคนไทย ตัวเขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัยสูง ออกแบบมาสำหรับอายุการใช้งาน 100 ปี

ผ่านบททดสอบที่สำคัญมาแล้วด้วยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมืองหงสา ณ วันที่ 21 พ.ย. ปี 2562

นอกจากมาตรฐานทางวิศวกรรมแล้ว ยังสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งบันไดปลาและทางไหลของตะกอน จนบัดนี้เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จ สามารถค้นพบสายพันธุ์ปลาแล้ว 110 ชนิด จาก 120 สายพันธุ์เมื่อก่อนสร้างเขื่อน

โครงการเขื่อนแบบน้ำไหลผ่านเขื่อนต่อไปของกลุ่มบริษัท ช.การช่าง คือเขื่อนหลวงพระบางขนาด 1,400 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 160,000 ล้านบาท จะเริ่มลงมือก่อสร้างต้นปีหน้านี้ กำหนดเวลาก่อสร้าง 7 ปี

เขื่อน “รัน ออฟ ริเวอร์” ฝีมือคนไทย จะได้โชว์ออฟมาตรฐานระดับโลกทั้งทางวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกครั้ง

Back to top button