ตอนทับไม่ร้อง (เพราะสยิว)…

กรณีบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ DA ในสิงคโปร์ยื่นต่อศาลในสิงคโปร์ขอล้มละลาย เพื่อทำการประนอมหนี้


กรณีบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ DA ในสิงคโปร์ยื่นต่อศาลในสิงคโปร์ขอล้มละลาย เพื่อทำการประนอมหนี้ ซึ่งมีเงินทุนจากนักลงทุนไทยติดปลายนวมไปประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท

ที่มีผู้ร้องเรียนต่อ ก.ล.ต.ไทยให้ช่วยเหลือทวงคืน หรือหาทางระงับความเสียหายด้วยการทำปฏิบัติการ “วัวหายล้อมคอก” ออกกติกาใหม่ที่รัดกุมเพื่อไม่ให้ความเสียหายเกิดซ้ำขึ้นมา กลายเป็นปัญหาทางนโยบายเพราะนี่เป็นกรณีเกิดขึ้นโดยไม่มีกติกาที่เป็นกฎหมายรองรับ

ว่ากันตามจริงแล้วกรณีนี้เปรียบได้กับกรณี “มุ่งตะวันตก ในสหรัฐฯ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เปิดช่องให้มีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายกระทำได้ จนกระทั่งมีคนใช้อำนาจเถื่อนอย่างไวแอท เอิร์บ และแพ็ต การ์เร็ต ฉวยโอกาสสร้างกติกาส่วนตัวให้กลายเป็นกฎหมายขึ้นมา เพื่อทำให้คนบุ่มบ่ามที่นัดดวลปืนที่ OK Corral เป็นการยิงกันแค่ 30 วินาที กลายเป็นผู้ร้าย และบิลลี่ เดอะคิด เด็กหนุ่มเลือดร้อน กลายเป็นมหาโจรที่ยิ่งใหญ่เกินจริง

ข้อเท็จจริงของกรณีดังกล่าวไม่มีอะไรมากนัก โดย Zipmex เป็นบริษัทมีสำนักงานในสิงคโปร์ ทำธุรกรรมแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วย้ายมาเปิดสาขาที่เมืองไทยชื่อ Zipmex (Thailand)

โดยมีข้อกำหนดที่ให้ลูกค้าเมืองไทยยินยอมลงนามมอบให้บริษัทในสิงคโปร์ทำหน้าที่นี้แทนบริษัทไทย

เรื่องของเรื่องดูจะไม่มีปัญหาอะไร โดยทางแพลตฟอร์มเปิดให้บริการอยู่ใน 4 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

ตอนหลังมานี้ประสบปัญหาจากตลาดคริปโตที่มีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงทั่วโลก ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของ Zipmex เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อมีการปิดระบบ ZipUp จนทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง และการออกมาไลฟ์สดของซีอีโออย่าง ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ในช่วงเย็นที่บอกว่าจะมีการดำเนินคดีกับทาง Zipmex Global เพื่อนำเงินของนักลงทุนกลับคืนมาให้ได้มากที่สุด ก็ไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้มากนัก

Zipmex ได้ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายในสิงคโปร์แล้ว โดยหวังใช้กฎหมายสิงคโปร์ที่อนุญาตให้บริษัทที่ยื่นขอล้มละลายสามารถพักชำระหนี้ได้นานสูงสุด 30 วันมาทำให้บริษัทได้มีโอกาสพักหายใจจากการทวงถามของบรรดาเจ้าหนี้–ผู้เสียหาย

ปัญหาของ Zipmex เกิดจากการที่ ZipUp แพลตฟอร์มที่บริษัท Zipmex Global ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Zipmex ในประเทศไทย พัฒนาขึ้น ได้นำสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้บริการไปลงทุนกับ Babel Finance และ Celsius ซึ่งเป็นสองบริษัทที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง และมีการประกาศล้มละลายในเวลาต่อมานั่นเอง

ด้านแถลงการณ์จากสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ต่อกรณี Zipmex นั้นทางสมาคมฯ ได้มีการให้ทำการประเมินความเสียหายเอาไว้ที่เบื้องต้น และคำแนะนำสมาชิกเอาไว้ ดังนี้

*   แนะผู้เสียหายจัดเตรียมพยานหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดี (ในกรณีที่มีการฉ้อโกงขึ้น)

*   ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อมูลและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อป้องกันไม่ให้พยานหลักฐานสูญหายหรือถูกทำลายไป

*   ขอให้บริษัท ซิปเม็กซ์ ควรสรุปจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่เสียหายและสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่คงเหลืออยู่ว่ามีสัดส่วนเท่าใด พร้อมเจรจากับบุคคลผู้มีอำนาจเพื่อให้นักลงทุนสามารถถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเองที่เหลืออยู่โดยเร็ว

*   ขอให้บริษัท ซิปเม็กซ์ ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งนี้ เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระคืนให้แก่นักลงทุน และเพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษต่อไป

ข้อสุดท้ายนี้แหละที่ยากสุด เพราะตัวแทนของบริษัทไทยจะโบ้ยไปที่สิงคโปร์ตลอด ทำให้ ก.ล.ต.ไทย ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่เข้าข่าย “ฉ้อโกง” แต่เป็นการลงทุนที่ผิดพลาดของบริษัทในสิงคโปร์ที่รับมอบอำนาจจากบรรดาคุณตลาดของไทยอย่างถูกต้องทุกประการ

ประเด็นเช่นนี้เข้าข่าย “ตอนทับไม่ร้อง” (แต่ครวญครางเพราะสยิว) แต่พอท้องขึ้นมา คนตัวเล็กเสียงดังก็พาลหาแพะ คือ ก.ล.ต. ให้มาจัดการวัวหายแล้วล้อมคอก จึงเปิดประเด็นขึ้นมา…ด้วยประการฉะนี้

คำถามที่ว่าใครจะเป็นคนจ่ายค่าโง่ในกรณีนี้ ยังไม่มีคำตอบและไม่น่าจะมีคำตอบ แม้แต่……ในสายลม

เอวัง!!!

Back to top button