จัดพอร์ตตั้งรับไตรมาส 4

เปิดฉากไตรมาส 4 หุ้นไทยไหลลึก แดงทั้งกระดานขนาดนี้ การมีวินัยที่ดี การจัดพอร์ตลงทุนที่ดี เป็นสิ่งสำคัญ


เส้นทางนักลงทุน

เข้าสู่ไตรมาส 4 ของปี 2565 เปิดทำการวันแรก (4 ตุลาคม) ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) ปักหัวลง 31.46 จุด เนื่องจากเว็บไซต์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า คณะผู้ว่าการเฟดจะจัดการประชุมแบบปิด (Closed Meeting) เป็นการประชุมที่จัดขึ้นแบบเร่งด่วนตามที่กำหนดไว้ในมาตรการ 261b.7 ของระเบียบการประชุมสาธารณะของคณะผู้ว่าการเฟด ณ กรุงวอชิงตันดีซี และผ่านระบบทางไกล

และกรณีเครดิตสวิสมีค่าสเปรดสัญญาสวอปการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Default Swap : CDS) สูงขึ้นจนสร้างความวิตกกังวลกับนักลงทุน

หากนับรวมตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (4 มกราคม-3 ตุลาคม) ของปีนี้ SET ถอยหลังไป 99.57 จุด หรือ -6% จาก 1,657.62 จุด สิ้นปีก่อน มาปิดที่ 1,558.05 จุด

สัญญาณการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังไม่ดีขึ้น ปัจจัยลบต่าง ๆ รุมเร้าหนัก ทั้งปัญหาเงินเฟ้อโลก แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งนำพาไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งอาจมีผลกระทบให้เครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการส่งออกสะดุด

ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องลุ้นว่าจะมากเพียงพอในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตรอบหนี้ไปได้หรือไม่ ดังนั้นการเตรียมตัวตั้งรับและปรับพอร์ตในช่วงไตรมาส 4 นี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม

SCB Chief Investment Office (SCB CIO) โดย ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB CIO ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ได้แนะกลยุทธ์ลงทุนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ที่จะยังคงสูงต่อเนื่องในปี 2565-2566 ว่า นักลงทุนควรถือเงินสดหรือเน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง มีความเสี่ยงต่ำ ประเภทคุ้มครองเงินต้น ประมาณ 5-15% ของพอร์ต พร้อมทยอยสะสมหุ้นกู้คุณภาพดี ส่วนการลงทุนในหุ้นยังมีความผันผวนสูง จึงแนะทยอยลงทุนหลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช้าลง

ให้เหตุผลประกอบว่า เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและชะลอลงค่อนข้างช้า ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ และมีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนสูง

ทั้งนี้ เงินเฟ้อในหลายประเทศที่ยังสูงและชะลอลงอย่างช้า ๆ เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด ลดลงค่อนข้างช้าจากปัจจัยอุปทานที่ยังโตไม่ทันปัจจัยอุปสงค์ โดยเฉพาะในภาคบริการ

เงินเฟ้อส่วนใหญ่แม้จะชะลอตัวลงแต่ยังสูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางหลัก จึงต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและคงไว้ในระดับสูง (Higher for longer) จนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมาย ทำให้เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า

การขึ้นดอกเบี้ยจะเปลี่ยนจากเร็วและแรงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น คาดว่าสิ้นปีนี้และปีหน้าดอกเบี้ยเฟดจะอยู่ที่ 4.5% และ 4.75% ตามลำดับ ส่วนดอกเบี้ยไทยจะอยู่ที่ 1.25% และ 1.75% ตามลำดับ

เงินเฟ้อที่สูงยืดเยื้อและการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะดังกล่าว และมีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในยุโรปที่ต้องเผชิญวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อและเงินยูโรที่อ่อนค่า

ส่วนความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ แม้ตลาดแรงงานและงบดุลของภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครั้งที่ผ่านมา

ด้านประเทศในแถบอาเซียน โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังมีไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับยุโรปและสหรัฐฯ เนื่องจากอานิสงส์การเปิดเมืองเปิดประเทศและการขยับขึ้นดอกเบี้ยส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป

ฐานะการคลังและเสถียรภาพด้านต่างประเทศจะถูกจับตามองมากขึ้น แต่ต้องพิจารณาเป็นรายประเทศ การใช้มาตรการช่วยเหลือเพื่อลดค่าครองชีพที่ใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้การขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะที่สูงอยู่แล้วหลังวิกฤตโควิดเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การเร่งตัวของมูลค่าการนำเข้าพลังงาน การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และค่าเงินดอลลาร์ ทำให้เกิดความกังวลในเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ซึ่งคาดว่ากลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงด้านนี้สูง ได้แก่ กรีซ และ ตุรเคีย ส่วนไทยแม้จะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564-2565 แต่หลังจากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเริ่มฟื้นตัวได้ ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะกลับมาเกินดุลได้ในปี 2566

ตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวนค่อนข้างสูง จากดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น การจัดพอร์ตที่เหมาะสมจึงต้องพิจารณา 1) ในภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยและภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น แนะนำให้มีเงินสดหรือผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ (คุ้มครองเงินต้น) 5-15% ของพอร์ต

2) การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (ราคาลดลง) เป็นโอกาสสำหรับคนที่ต้องการสร้างกระแสเงินสดในพอร์ต โดยเน้นทยอยสะสมหุ้นกู้คุณภาพดีเพื่อหลีกเลี่ยงการเร่งตัวของ spread ในช่วงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น

3) มุมมองโดยรวมเป็น Neutral ต่อหุ้น โดยทยอยสะสมหุ้นบริษัทที่มีการเติบโตยั่งยืนและอัตรากำไรสูง ที่ได้อานิสงส์จากการเปิดเมืองเปิดประเทศ และการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานของโลก เช่น ตลาดหุ้นไทย โดยเริ่มทยอยสะสมหลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช้าลง

4) เพื่อเป็นการจัดการความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงที่ยืดเยื้อ ให้มีสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันในสัดส่วน 5% ของพอร์ต และ 5) ลดความผันผวนของพอร์ตด้วยผลิตภัณฑ์สินทรัพย์ทางเลือก

อย่างไรก็ตาม สมาคมนักวิเคราะห์ได้สำรวจความคิดเห็นโบรกเกอร์-ผู้จัดการกองทุน ต่างคาดว่าหุ้นไทยไตรมาสนี้สูงสุดเฉลี่ย 1,709 จุด ต่ำสุด 1,585 จุด โดยสิ้นปีจะอยู่ที่ 1,685 จุด แนะนำกระจายพอร์ตลงทุนหุ้นไทย 26% หุ้นต่างประเทศ 20% ถือเงินสด 20% เน้นกลุ่มค้าปลีก ธนาคาร และท่องเที่ยว

เปิดฉากไตรมาส 4 หุ้นไทยไหลลึก แดงทั้งกระดานขนาดนี้ การมีวินัยที่ดี การจัดพอร์ตลงทุนที่ดี เป็นสิ่งสำคัญ

Back to top button