ESG กับการลงทุนแบบยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิดการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (ESG) กำลังได้รับความสนใจกว้างขวางมากยิ่งขึ้น


การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิดการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) กำลังได้รับความสนใจกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทั้งจากบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งกิจการและสังคมมากขึ้น

นั่นหมายถึงการสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบและแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่เพียงผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีการคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาลของธุรกิจ สถิติช่วงปี 2563 พบว่า มีการออกตราสารหนี้ลักษณะนี้ทำสถิติสูงสุดกว่า 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีการประเมินว่าปีนี้อยู่ที่ 450,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว

การวิเคราะห์ข้อมูล ESG กลายเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์หลักทรัพย์ถือว่าเป็นพัฒนาการด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อการลงทุน โดย BlackRock บริษัทจัดการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประกาศว่าการวิเคราะห์เรื่อง Sustainability ผ่าน ESG Performance ของบริษัทเป้าหมาย เป็นมาตรฐานใหม่ในการลงทุนโดยบริษัทที่มีความเสี่ยง (ESG Risk) สูงเมื่อทำการวิเคราะห์แล้วจะถูกหลีกเลี่ยงเข้าลงทุน ในทางกลับกันบริษัทที่บริหาร ESG Risk ได้ดีจะถูกกำหนดให้เป็น Good Companies เป็นเป้าหมายเพิ่มน้ำหนักการลงทุนต่อไป

มุมมองของนักลงทุนหุ้นที่ทำเรื่อง ESG ได้ดี จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นอย่างยิ่งโดยมีการออกแบบแนวการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ อาทิ 1) Sustainable and Responsible Investing (SRI) เป็นแนวการลงทุนโดยพยายามค้นหาบริษัทที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบ (Negative Screening) ออกจากพอร์ตการลงทุนเช่นหุ้นเกี่ยวกับธุรกิจยาสูบหรือหุ้นที่ธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงลบและเป็นอันตรายต่อส่วนรวม

2) Ethical Investing มีบางอย่างที่คล้ายกับกรณี SRI เช่นการไม่ลงทุนหุ้นกลุ่มที่สร้างผลกระทบทางด้าน ESG แต่สิ่งที่แตกต่างโดยมีการระบุชัดเจน เช่น ยาสูบ แรงงานเด็กละเมิดสิทธิเป็นต้น 3) Impact Investing เป็นการลงทุนที่ให้ความสนใจทั้งด้านอัตราผลตอบแทนที่ดีและธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมเริ่มมีการกำหนดขอบเขตของการรายงานที่มีความลึกขึ้น อาทิ พลังงานทดแทน, เทคโนโลยีสะอาด หรือ การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

ปัจจุบันมีองค์กรต่าง ๆ จัดตั้งดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดว่าบริษัทต่าง ๆ มีการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับแนวคิด ESG มากน้อยอย่างไร ทั้งดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), FTSE4Good Index, MSCI ESG Index เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ESG กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นบริษัทจดทะเบียนหลายรายมีการนำข้อมูลด้าน ESG มาจัดทำรายงานความยั่งยืน (sustainability report) เพื่อเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุนและสาธารณชน ควบคู่กับรายงานข้อมูลทางการเงิน

โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการจัดทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมการลงทุนธุรกิจที่คำนึงถึง ESG และมีการทบทวนรายชื่อดัชนีทุกครึ่งปีแต่ต้องประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลักผลการสำรวจขององค์การสหประชาชาติด้านความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (UN Global Compact) พบว่ามีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการตรวจสอบและประเมินด้าน ESG อย่างชัดเจน

ภายในปี 2573 บริษัทที่ไม่มี ESG อาจกลายเป็นบริษัทล้าหลัง ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานเป้าหมายความร่วมมือด้านความยั่งยืนของโลกที่ประเทศสมาชิกกว่า 193 ประเทศนั่นหมายถึงบริษัทใดที่ละเลย ESG จะกลายเป็นตกเมกะเทรนด์นี้ไปทันที..!!?

Back to top button