AOT เปิดน่านฟ้าคว้ากำไร!

AOT เดิมเคยได้ชื่อว่าเป็นเสือนอนกิน เนื่องจากทำธุรกิจสนามบินในประเทศ บริหารสนามบิน 6 แห่ง อิ่มหมีพีมันกับยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


คุณค่าบริษัท

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เดิมเคยได้ชื่อว่าเป็นเสือนอนกิน เนื่องจากทำธุรกิจสนามบินในประเทศไทย บริหารสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, หาดใหญ่ และภูเก็ต ซึ่งเคยอิ่มหมีพีมันกับยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 40 ล้านคนต่อปี

แต่การมาของโควิดทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ เป็นที่มาที่ทำให้ผลประกอบการของ AOT ย่ำแย่ ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) มีรายได้ 33,129 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,320 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563-ก.ย. 2564) มีรายได้รวม 7,715 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 16,322 ล้านบาท และงวด 9 เดือน ปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 2564-มิ.ย. 2565) มีรายได้รวม 10,367 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 9,755 ล้านบาท

แต่เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มีการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวของ AOT มากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 2564-ก.ย. 2565) ประมาณการว่า AOT จะมีผู้โดยสารรวม 46 ล้านคน มากกว่าที่คาดไว้ว่าจะมีผู้โดยสาร 43 ล้านคน แต่ผลประกอบการยังคงขาดทุนอยู่

ขณะที่ปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565-ก.ย. 2566) ประมาณการว่าผู้โดยสารจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ 110 ล้านคน และจะพลิกกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง โดยคาดว่าจะมีกำไรหลักพันล้านบาท ส่วนปี 2567 สถานการณ์การเดินทางจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยประเมินว่า AOT จะมีผู้โดยสารเทียบเท่าปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด) ที่ 142 ล้านคน ประกอบกับ AOT จะมีการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) สนามบินสุวรรณภูมิ ในเดือน ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นตารางการบินฤดูหนาว และเริ่มเข้าสู่ปีงบประมาณ 2567 ด้วย

ล่าสุด AOT ยังเตรียมส่งบริษัทลูก บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด  หรือ AOTTO เปิดดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรเน่าเสียง่าย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยประเมินว่าในปี 2566 AOTTO จะมีรายได้ประมาณ 60-70 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 120 ล้านบาท เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยหนุนผลประกอบการของ AOT ในอนาคต

ด้านบล.เคจีไอ มีมุมมองเป็นบวกกับแนวโน้มการพลิกฟื้นของ AOT ตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ทั้งนี้ีจำนวนผู้โดยสารกลับมาดีขึ้น โดยผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารในประเทศคิดเป็นประมาณ 50% และ 80% ของระดับก่อนโควิดระบาด ตามลำดับ ขณะที่ AOT ไม่ได้หยุดแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิผ่าน 1) การขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟสที่ 2 (ใช้งบ 6.25 หมื่นล้านบาท) 2) การก่อสร้างรันเวย์ที่สาม และ 3) การขยายหลุมจอดเครื่องบิน และการปรับปรุงภาคพื้นดิน โดยยังแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้หมาย  81 บาท

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่

  1. กระทรวงการคลัง 10,000,000,000 หุ้น 70.00%
  2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 589,916,400 หุ้น 4.13%
  3. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 333,248,014 หุ้น 2.33%
  4. สำนักงานประกันสังคม 235,499,500 หุ้น 1.65%
  5. STATE STREET EUROPE LIMITED 189,403,914 หุ้น 1.33%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ
  2. นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่, กรรมการ
  3. นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ กรรมการ
  4. นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย กรรมการ
  5. นายวราห์ ทองประสินธุ์ กรรมการอิสระ, ประธานกรรมการตรวจสอบ
  6. พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก กรรมการอิสระ
  7. นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  8. พล.อ.อ.ภานุพงศ์ เสยยงคะ กรรมการอิสระ
  9. น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ กรรมการอิสระ
  10. นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการอิสระ
  11. น.ส.ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ กรรมการอิสระ
  12. น.ส.พัดชา พงศ์กีรติยุต กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  13. นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ กรรมการอิสระ
  14. นายจิรพล สังข์โพธิ์ กรรมการอิสระ
  15. นายกฤชเทพ สิมลี กรรมการอิสระ

Back to top button