พาราสาวะถี

หากย้อนไปยังจุดกำเนิดของรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจที่พยายามล้างคราบไคลผ่านกระบวนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 วิษณุ เครืองาม เคยกล่าวไว้


หากย้อนไปยังจุดกำเนิดของรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจที่พยายามล้างคราบไคลผ่านกระบวนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 วิษณุ เครืองาม เคยกล่าวไว้ว่า รัฐนาวานี้เปรียบเหมือนเรือเหล็กจะไปถึงฝั่งหรือไม่อยู่ที่ความเป็นปึกแผ่นภายใน หากมีสนิมเกิดแต่เนื้อในก็จะทำให้เรือล่มไปไม่ถึงฝั่งฝันได้ แน่นอนว่า หลังจากใช้ ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงช่วยอุ้มสมให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้กลับมาบริหารประเทศที่ถือเป็นความสำเร็จของขบวนการสืบทอดอำนาจแล้ว อย่างอื่นโดยเฉพาะผลงานไม่เป็นที่ประทับใจสำหรับประชาชนแม้แต่น้อย

จากสถานการณ์ที่ดำเนินมาต่อเนื่องกว่า 8 ปี มันจึงเป็นเหตุผลให้พวกที่สังฆกรรมกันมาตั้งแต่ต้น แม้กระทั่งนักเลือกตั้งที่ถูกอำนาจและผลประโยชน์บังตาเข้าร่วมสนับสนุนเผด็จการสืบทอดอำนาจ เมื่อถึงเวลาใกล้เข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งรอบใหม่ ทำให้คนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยเริ่มมองเห็นแล้วว่าหากยังแสดงท่าทีที่จะร่วมหัวจมท้ายกันต่อไป อนาคตคงไม่ได้กลับมาชูคอในฐานะฝ่ายบริหารอีกเป็นแน่ จึงมีความพยายามจะสละเรือเหล็ก แล้วมองหาเรือลำใหม่ที่น่าจะมีทิศทางที่สดใสมากกว่า

ไม่ว่าจะถือไพ่ในมือที่เหนือกว่าทั้ง 250 เสียง ส.ว.ลากตั้ง องคาพยพทุกด้านที่วางคนและกลไกไว้เพื่อค้ำยันอำนาจสืบทอด แต่การอยู่รอดหรือไม่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านั้นเสียแล้ว มันอยู่ที่ว่าประชาชนยังคงไว้วางใจ เชื่อถือ ศรัทธา เหมือนหลังยึดอำนาจเมื่อปี 2557 หรือไม่ แม้แต่ภายในกองทัพที่มีการวางตัวบุคคลสืบทอดอำนาจกันมานานกว่า 15 ปี เวลานี้ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว จะเรียกว่าถึงเวลาเสื่อมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็คงไม่ผิดมากนัก

ขณะที่บรรดากองเชียร์ไม่ลืมหูลืมตายังคงวาดหวังกันว่า ด้วยฤทธิ์เดชของบรรดากุนซือทั้งหลายน่าจะช่วยทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายไปได้ อย่างน้อยก็ให้ได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 2 ปีหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่วางกันไว้อย่างที่ว่าก็ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง แต่ด้วยสถานการณ์ของบ้านเมืองและการเมืองที่เป็นอยู่ ไม่ต้องไปถามนักการเมืองอื่นที่อยู่ร่วมกัน ฟังคำตอบจากปากของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.เองว่า ทุกอย่างยังเหมือนเดิมหรือไม่

แม้แต่ปมการแก้กฎกระทรวงให้ต่างชาติซื้อที่ดินได้ 1 ไร่ที่พยายามโยนว่ามีมาตั้งแต่รัฐบาลยุค ทักษิณ ชินวัตร คนจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่เลิกกังขา โดยที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพูดไปในทำนองเดียวกันกับเนติบริกรศรีธนญชัยทุกอย่างยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังอยู่ในชั้นการให้กฤษฎีกาตรวจสอบ สามารถที่จะปรับแก้ตามที่มีข้อเสนอแนะมาได้ อย่างไรก็ตาม ก็เกิดคำถามตัวโตว่าเมื่ออ้างว่าสถานการณ์ของประเทศทุกอย่างดีขึ้นแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจทำไมต้องอาศัยการกระตุ้นด้วยวิธีนี้อีก

น่าสนใจต่อคำถามของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยที่มีต่อประเด็นนี้ว่า รัฐบาลอ้างตลอดมาถูกทาง ทุกอย่างกำลังดีขึ้น แต่กลับมีมติ ครม.เปิดช่องให้ต่างชาติเอาเงินมาลงทุน 40 ล้านบาท แล้วซื้อที่ดินครอบครองได้ พิจารณาแล้วไม่มีประโยชน์อื่น นอกจาก “บริหารจนเจ๊ง ไม่มีปัญญาหาเงินเข้าประเทศ” การมาทำในช่วงปลายรัฐบาลซึ่งเป็นไปได้ว่าหลังการเลือกตั้งอาจไม่ได้เข้ามาบริหารต่อ เหมือนกับเอาชาติขายทอดตลาด แล้วทิ้งภาระไว้ไม่รับผิดชอบ

ขณะเดียวกัน ประเด็นที่มีการอ้างว่ารัฐบาลไทยรักไทยเคยทำไว้เมื่อปี 2545 ก็ต้องพูดให้ชัดว่ากฎกระทรวงแบบเดิมที่ทำไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วนั้น ดำเนินการภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศเป็นหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ อยู่ภายใต้เงื่อนไขของเจ้าหนี้ ทุกอย่างที่ทำต้องเป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุม ไม่เกิดความเสียหาย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือใช้หนี้ได้ก่อนกำหนด แต่การแก้ไขหลักเกณฑ์แบบที่เป็นอยู่นี้เสียมากกว่าได้

สิ่งที่น่าคิดประการต่อมาคือ เป็นไปได้ว่าคนกลุ่มแรกที่จะอวตารมาลงทุนแล้วซื้อที่คือ กลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาแฝงตัวก่ออาชญากรรม ทั้งพนันออนไลน์ ผับ บาร์ ยาเสพติด คอลเซ็นเตอร์ และอื่น ๆ อีกที่เป็นพวกธุรกิจสีเทา ซึ่งน่าสังเกตว่าบานเป็นดอกเห็ดในยุคนี้ เหมือนอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวซึ่งพรรคแกนนำรัฐบาลถูกกล่าวหาอยู่ในเวลานี้บางรายถึงขั้นเป็นผู้มีอุปการคุณ บริจาคเงินสนับสนุนพรรค ไม่มีหลักประกันให้ประเทศชาติและประชาชน

ไม่ใช่แค่ฝ่ายเห็นต่างกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยการแนวทางดังกล่าว คนเคยรักและเชียร์ท่านผู้นำแบบสุดลิ่มทิ่มประตูอย่าง สิระ เจนจาคะ กับ ปวีณา ไกรคุปต์ ต่างก็ออกโรงคัดค้านด้วยเช่นกัน ในความเห็นของณัฐวุฒิเองมองว่า การส่งเสริมการลงทุนเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่ทำเหมือนคนสิ้นคิดเฉือนแผ่นดินขาย ประสานักรบผู้ปกป้องผืนแผ่นดินของประเทศ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจน่าจะมีสำเหนียกต่อประเด็นอ่อนไหวเช่นนี้

ส่วนความเคลื่อนไหวของบรรดานักเลือกตั้งทุกสังกัดนาทีนี้ ต่างจดจ้องกันในประเด็นจะมีการยุบสภาเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง และส่งผลต่อการต้องสังกัดพรรคการเมืองตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จะไปหวังพึ่งคำอธิบายจาก กกต.คงยาก ดังนั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.จึงมาช่วยไขข้อกระจ่าง โดยชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทุ่มเถียงกันนั้นเป็นเรื่องของ สื่อ นักการเมือง รวมทั้งนักวิชาการ ไม่อ่านรัฐธรรมนูญให้เกิดความกระจ่าง

ความชัดเจนก็คือ มาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง ยกเว้นกรณียุบสภาให้ลดเหลือ 30 วัน กำหนด 90 วันที่ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคหากสภาอยู่ครบ 4 ปี เมื่อนับถึงวันเลือกตั้งซึ่งการเลือกตั้งต้องมีใน 45 วันนับแต่วันครบวาระ  ดังนั้นหากเลือกตั้ง 7 พฤษภาคม 2566 ย้อนมา 90 วันคือ 7 กุมภาพันธ์ 2566  ไม่ใช่ 24 ธันวาคม 2565 แต่ถ้ามีการยุบสภาต้องมีการเลือกตั้งภายในเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันและไม่เกิน 60 วัน ใครจะย้ายคอกเปลี่ยนข้างก็มีเวลาถมเถ เป็นอันว่าเข้าใจตรงกันนะ

Back to top button