วาระ (ซ่อนเร้น) แก้เกณฑ์ Turnover Ratio ใครได้ประโยชน์??

ข้อสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น การปรับปรุงเกณฑ์ Turnover Ratio สำหรับการคัดเลือกหุ้นเข้าคำนวณดัชนี SET50/SET100 ที่ออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ


ข้อสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น การปรับปรุงเกณฑ์ Turnover Ratio สำหรับการคัดเลือกหุ้นเข้าคำนวณดัชนี SET50/SET100 ที่ออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยปรับลดการใช้เกณฑ์ Liquidity มาเป็น Turnover Ratio ที่ 2% จากเดิม 5% นั้น ถือเป็นการประกาศที่เรียกได้ว่า “ย้อนแย้ง” กับสิ่งที่ทางการเคยพยายาม กำราบการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ก่อนหน้านี้

กล่าวคือ เมื่อไม่นานมานี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศที่จะตัดสิทธิ์ และทำการอัปเปหิหุ้น DELTA ออกจากการคำนวณใน SET50 Index เนื่องจากไม่สามารถตรวจจับต้นสายปลายเหตุของกลุ่มทุนที่เข้ามาดันราคาหุ้นจาก 52 บาท (17 มิ.ย. 63) ขึ้นไปสูงเสียดฟ้าที่ 838 บาท (28 ธ.ค. 63) ได้

แม้ทางการจะมีข้อมูลจากการตรวจสอบที่พบว่า มีบัญชีนิติบุคคลรายหนึ่งซึ่งเปิดไว้บนหมู่เกาะสวรรค์ของพวกชอบหลบเลี่ยงภาษี หรือที่เรียกว่า Tax Heaven และไม่สามารถบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของบัญชี หรือผู้ได้รับประโยชน์จากบัญชีนั้นได้ เป็นกลุ่มคนที่ดันราคาหุ้น DELTA จนขึ้นไปทะลุ 800 บาท โดยทางการไม่สามารถเอื้อมมือเข้าไปถึงบุคคลที่อยู่ภายใต้นิติบุคคลนี้ได้

พูดให้ง่ายคือ “ทางการ” รู้ว่าใครเป็นกลุ่มมือพระกาฬที่ปั่นหุ้น DELTA ขึ้นมา แต่ก็บ่มิไก๊ “จับมือใครดมไม่ได้”

ส่งผลให้ต้องมีการประชุมกันว่า มีกฎเกณฑ์ข้อใดที่จะหยุดยั้ง และสกัดความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้ลงได้ สุดท้ายหวยมาออกแบบแก้ปัญหาปลายเหตุสไตล์ไทย ๆ คือ การยกเลิก และตัดสิทธิ์ไม่ให้ DELTA อยู่ในการคำนวณของดัชนี SET50 ด้วยการอ้างว่า “สภาพคล่องในตลาดไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนด”

ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ ราคาหุ้นปรับลดจาก 838 บาท ลงมาต่ำสุดที่ 286 บาท (24 มี.ค. 64) หลังจากนั้นราคาก็ซึมกระทือเรื่อยมา กระทั่งมีข่าวหลุดออกมาจากบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าจะมีการประชุมเอาเกณฑ์คิดคำนวณ SET50/100 ใหม่มาใช้ ราคาหุ้นจึงถูกไล่ขึ้นมาอีกคำรบ จากระดับ 287 บาท (20 มิ.ย. 65) ทะยานขึ้นมาถึง 708 บาท (6 ต.ค. 65) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 421 บาท หรือกว่า 146% ในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น

สิ่งที่บ่งชี้ถึงความ “ย้อนแย้ง” อย่างร้ายกาจ มาจากรายงานข้อสรุปการปรับปรุงเกณฑ์ Turnover Ratio ของฝ่ายงานที่รับผิดชอบ ในหน้าที่ 3 ย่อหน้าแรก ซึ่งระบุว่า

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบเกณฑ์ Liquidity Criteria ของดัชนี SET50/SET100 กับดัชนีสำคัญของต่างประเทศแล้วพบว่า ส่วนใหญ่จะกำหนดเกณฑ์ Liquidity โดยใช้ Turnover Ratio เฉกเช่นเดียวกับกรณีของ SET50/SET100 แต่จะกำหนดระดับขั้นต่ำที่ประมาณ 1-2% เท่านั้น

ดังนั้น เพื่อให้ดัชนีสะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ และสอดคล้องกับสภาพการซื้อขายที่เปลี่ยนไปได้อย่างเหมาะสม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเสนอแนวการปรับปรุงเกณฑ์ Turnover Ratio ที่ใช้สำหรับการพิจารณาคัดเลือก

โดยใช้หลักเกณฑ์และแนวทางตามแบบในปัจจุบัน แต่จะปรับลดระดับ Turnover Ratio จากเดิมที่ 5% เหลือเป็น 2% ซึ่งการปรับลดดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป และสอดคล้องกับเกณฑ์ของดัชนีในต่างประเทศ

“นอกจากนี้ ยังอ้างเหตุผลในการปรับลด Turnover Ratio ว่าจะช่วยให้หุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นฐานโครงสร้างของตลาดหุ้นไทยมีโอกาสคงอยู่ในดัชนีสำคัญ รวมถึงช่วยให้เกิดเสถียรภาพในระยะยาวของดัชนี ลดความผันผวนต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี และสอดคล้องกับมาตรฐานในต่างประเทศด้วย”

การอ้างเหตุผลต่อการปรับลด Turnover Ratio ลงมาเหลือ 2% ครั้งนี้ เหมือนเป็นการพยายามทู่ซี้ และย้อนแย้งตัวเองเหลือประมาณ ต่างกับในอดีตที่ใช้อำนาจถอดหุ้น DELTA ออกจาก SET50 ซึ่งไม่มีการหยิบยกเหตุผลเหล่านี้มาอ้างอิงเลยแม้แต่น้อย

รู้หรือไม่? นับตั้งแต่ต้นปี 65 มาจนถึงปัจจุบัน ก่อนมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ตามประกาศจากทางการเมื่อช่วงเดือน ตุลาคมที่ผ่านมา หุ้น DELTA มีสภาพคล่องซื้อขายเฉลี่ยที่ระดับ 7% ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์เก่าที่ถูกนำมาบังคับใช้ คือ 5% ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สรุปความของเนื้อหาตรงนี้ คือ ต่อให้เกณฑ์ Turnover Ratio 5% ยังคงอยู่ หุ้น DELTA ก็สามารถเข้าไปอยู่ในลิสต์ของ SET50 ได้อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องอาศัยเกณฑ์ใหม่ที่ถูกปรับล่าสุดแบบงง ๆ เข้ามาช่วย

เช่นนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าแท้จริงแล้ว DELTA เป็นแค่ “ตัวหลอก” เท่านั้นหรือไม่?

เพราะหากมองย้อนกลับไปในยุคที่ใช้เกณฑ์ 5% ไม่ได้มีแค่ DELTA ที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีอีกหลายหุ้น และส่วนใหญ่เป็นหุ้นของ “เจ้าสัวมีชื่อ” ด้วยกันทั้งสิ้น

เชื่อขนมกินได้เลยว่า การปรับเกณฑ์ Turnover Ratio ครั้งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การเอื้อประโยชน์ใด ๆ ให้กับหุ้น DELTA เพราะ Turnover เฉลี่ยในปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ราว 7% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว

ส่วนจะเป็นการออกเกณฑ์ใหม่เพื่อมาช่วยเหลือพิเศษให้กับหุ้นของเจ้าสัวคนใดคนหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งคนหรือไม่ โดยเฉพาะหุ้น M กับหุ้น B ที่มี Turnover ไม่ผ่านเกณฑ์ 5% นี้ก็ไม่สามารถทราบได้

แต่เชื่อว่า ทั้งผู้ยื่นและผู้รับ Special Request นี้คือคนที่รู้ดีและอ่านขาดที่สุด ว่าถึงเวลาแล้วต้องปรับลดเกณฑ์ Turnover Ratio เพื่อมาอุ้มประคองให้หุ้นยังคงอยู่ในการคำนวณของ SET50/SET100

มิเช่นนั้น หากหุ้นหลุดโผหรือไม่กลับเข้าโผ แล้วบรรดากองทุนพากันขายทิ้งออกมาจนราคาทรุดต่ำ ก็อาจเป็นอันตรายต่อสถานภาพทางการเงินของบรรดา “เจ้าสัวมีชื่อ” เหล่านี้ได้…จริงไหม??

Back to top button