พาราสาวะถี

วิ่งหาเงินหนุนเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จนได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ แต่สุดท้ายก็เกิดปมปัญหา ดราม่าจนได้


วิ่งหาเงินหนุนเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จนได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ แต่สุดท้ายก็เกิดปมปัญหา ดราม่าจนได้ เมื่อพบว่าบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เอกชนผู้ออกเงินหนุนมากที่สุด 300 ล้านบาทให้การกีฬาแห่งประเทศไทยหรือ กกท.ไปซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสด กลายเป็นผู้สนับสนุนหลักและได้ออกประกาศ การถ่ายทอดสดจะทำได้เฉพาะบนระบบดาวเทียม และระบบเคเบิลเท่านั้น ไม่รวมถึงบนระบบไอพีทีวี ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบ OTT

จนทำให้สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เข้ายื่นหนังสือถึงกรรมการ กสทช. เพื่อวินิจฉัยหลักการการจัดสรรการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ด้วยเหตุที่ว่า การจัดสรรแมตช์ในการถ่ายทอดสดให้แก่ช่องต่าง ๆ ควรเป็นไปตามมติในการให้เงินสนับสนุนของ กสทช.ทั้ง 64 แมตช์ นั่นก็คือ แบ่งสิทธิประโยชน์ตามสัดส่วนของการสนับสนุนคือคิดเป็น 40% ของงบประมาณการซื้อลิขสิทธิ์ 1,400 ล้านบาท ไม่ใช่เพียง 32 แมตช์ และได้รับหลังจากที่ผู้สนับสนุนหลักคือกลุ่มทรูซึ่งมีธุรกิจเป็นช่องทีวีดิจิทัลด้วย ได้เลือกแมตช์สำคัญไปแล้ว ตรงนี้สะท้อนถึงความไม่ทั่วถึง และไม่เท่าเทียมอย่างมาก

ส่วน กสทช.สนับสนุนเงินผ่านกองทุน กทปส.จำนวน 600 ล้านบาท ด้วยมติต้องจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดให้แก่ช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นแหล่งที่มารายได้ของกองทุนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ทั้ง 64 แมตช์ กลับได้รับการจัดสรรสิทธิเพียง 32 แมตช์ และเป็นแมตช์ที่เหลือจากที่กลุ่มทรูได้เลือกไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม และผิดต่อหลักการ“ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ” และเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ก็ออกมาแก้ต่างว่าเงินที่บอร์ด กสทช.อนุมัติให้กกท.ไปนั้นเป็นเงินในส่วนของสำนักงาน กสทช.เองไม่ใช่ส่วนของผู้ประกอบการ ที่แบ่งรายได้เข้ามาปีละ 150 ล้านบาท จึงน่าจะเป็นการเข้าใจผิด แต่ได้ส่งหนังสือเชิญให้ ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าฯ กกท.ให้เข้าชี้แจงแล้ว เพราะ กสทช.ไม่ทราบรายละเอียดว่า กกท.มีข้อตกลงอย่างไรกับภาคเอกชน แต่เจ้าตัวยังไม่ว่างจึงยังไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวบรรจุเข้าสู่วาระที่ประชุม กสทช.

คำถามก็คือ ไม่ว่าเงินจะมาจากส่วนไหน เงินที่ กสทช.จ่ายไปถามว่าเป็นเงินส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ สิ่งสำคัญคือการดำเนินการเพื่อให้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็เป็นไปตามประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือ Must Have ซึ่งไตรรัตน์เองก็บอกเองในวันที่บอร์ด กสทช.อนุมัติเงิน 600 ล้านบาทว่า เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม

เช่นนี้แล้วคำว่าได้ดูฟรีผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์มนั้นมันหมายความว่าอย่างไร สิ่งที่ กกท.ไปตกลงกับเอกชนผู้สนับสนุนหลักเป็นไปตามเป้าประสงค์ของ กสทช.ที่เป็นผู้ออกเงินมากที่สุดหรือไม่ มากไปกว่านั้นข้อตกลงที่ กกท.ไปทำกับภาคเอกชน ซึ่งต้องยึดผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งนั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามกฎมัสต์แฮฟหรือไม่ หวังว่าฝ่ายกุมอำนาจคงไม่คิดว่ามีให้ดูฟรีดูได้แค่ไหนก็เอาตามนั้นอย่าเรื่องมาก ถ้าคิดแบบนี้จริง ต้องบอกว่าเฮงซวยที่สุด

ไม่เพียงเท่านั้น กรณีนี้ต้องติดตามดูว่าบทสรุปจากที่ประชุม กสทช.เป็นอย่างไร เพราะ พันตำรวจเอกประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประธาน กสทช.คือ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ที่เป็นตัวแทนมารับหนังสือจากสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อตอบชัดเจนว่า “ปกติก็ต้องดูได้หมด ตามเจตนาที่ กสทช. ให้งบไป ก็เพื่อให้ได้ชมทุกช่องทาง” แล้วสิ่งที่รักษาการเลขาธิการ กสทช.อธิบายต้องการสื่อถึงอะไร และที่  กกท.ไปเจรจาตกลงกับเอกชนเข้าใจตรงกันหรือไม่

ตั้งแต่วานนี้คอการเมืองต่างตั้งตาเฝ้ารอติดตามความเคลื่อนไหวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เนื่องจากเป็นวันแรกหลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค ซึ่งตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้จะตอบคำถามทางการเมืองกับผู้สื่อข่าวโดยเฉพาะประเด็นความชัดเจนในการจะไปต่อหรือไม่ ถ้าตัดสินใจเดินหน้าจะยังรับการสนับสนุนจากพรรคสืบทอดอำนาจเหมือนเดิม หรือจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเอง

อย่างที่บอกว่า ไม่เพียงแต่ทีมกุนซือแตะเบรกเกรงว่าจะเปลืองตัวถ้าต้องกระโดดลงเล่นการเมืองแบบเต็มตัว เมื่อเทียบกับอายุหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่เหลือไม่ถึง 2 ปีหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ดังนั้น ควรจะเดินเกมแบบเพลย์เซฟ เจรจาหาทางรอมชอมกับพี่ใหญ่เพื่อให้คุมสถานการณ์ กุมความได้เปรียบทางการเมืองร่วมกันไปน่าจะดีกว่า เมื่อมาคำนวณตัวเลข ส.ส.กันหลังเลือกตั้งแล้วพบว่า พรรคใหม่ที่ตั้งมาเพื่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นจะได้ ส.ส.ไม่มากพอที่จะชูแคนดิเดตนายกฯ ของตัวเองไปชิงกับพรรคการเมืองอื่น

หากเป็นเช่นนั้นถ้าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจตัดสินใจไปเล่นการเมืองเต็มตัวก็มีโอกาสที่จะเจ็บตัวสูง ขณะเดียวกันพรรคของพี่ใหญ่แม้จะเดินเกมการเมืองหลายหน้า แต่ความจริงที่ว่าด้วยการเลือกตั้งครั้งหน้า จำนวน ส.ส.ที่จะได้กลับมาไม่สามารถที่จะเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ เพียงแต่ว่าถ้ายังจับมือกันระหว่างพี่ใหญ่กับน้องเล็ก การได้ ส.ส.มาในอันดับที่สามหรือสี่ โดยมีพรรคภูมิใจไทยของ อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ ส.ส.เบียดมากับพรรคเพื่อไทย นั่นย่อมเข้าทางฝ่ายสืบทอดอำนาจที่มี 250 เสียง ส.ว.ลากตั้งเป็นต้นทุนอยู่แล้ว

การเมืองสูตรนี้ จึงจะเดินไปในลักษณะที่ว่าจับมือกันเหมือนเดิมโดยมีเงื่อนไขนายกฯ คนละครึ่ง แต่จะเป็นครึ่งแบบน้องเล็กเป็นก่อน 2 ปีแรก แล้วตามด้วยพี่ใหญ่หรือจะเป็นเสี่ยหนู แต่ประสาคนที่มีกุนซือเขี้ยวลากดิน เสี่ยหนูย่อมจะยอมให้พี่ใหญ่เป็นนายกฯ ส่วนพรรคของตัวเองขอเลือกกระทรวงเกรดเอเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เงื่อนไขนี้ที่จะทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ไปสังกัดพรรคการเมืองใดก็คือ หลังเป็นนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว ถ้าฝ่ายกุมอำนาจยังเป็นขั้วเดิม ตัวเองก็ยังสามารถเป็นรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีอื่นได้อีก บวกลบคูณหารได้ทั้งขึ้นทั้งล่องแบบนี้เป็นใครจะไปเล่นการเมืองตามใจกองเชียร์ให้เปลืองตัว

Back to top button