บทเรียนหุ้นเล็กที่หวือหวา

หุ้นมอร์ รีเทิร์น หรือ MORE มันเป็นหุ้นของเซียนเขาเล่นกัน นอกจากปล้นโบรกเกอร์กว่า 11 รายจนบอบช้ำเจ็บหนักแล้ว ความเสียหายยังลามเลียมาถึงรายย่อย ที่ตาลุกวาวกับมหกรรม “ปั้นหุ้นดินให้เป็นดาว” เพราะหลังจากปลดเครื่องหมาย “SP” แล้วหุ้นก็ร่วงฟลอร์มาตลอด ราคาอาจจะหลุดร่วงไปถึง 1 สตางค์ในไม่ช้าก็เป็นได้


หุ้นมอร์ รีเทิร์น หรือ MORE มันเป็นหุ้นของเซียนเขาเล่นกัน นอกจากปล้นโบรกเกอร์กว่า 11 รายจนบอบช้ำเจ็บหนักแล้ว ความเสียหายยังลามเลียมาถึงรายย่อย ที่ตาลุกวาวกับมหกรรม “ปั้นหุ้นดินให้เป็นดาว” เพราะหลังจากปลดเครื่องหมาย “SP” แล้วหุ้นก็ร่วงฟลอร์มาตลอด ราคาอาจจะหลุดร่วงไปถึง 1 สตางค์ในไม่ช้าก็เป็นได้

หุ้น MORE อวตารมาจากซากหุ้น DNA ที่เป็น “หุ้นเน่า” มาแล้วโดยตลอด ภายใต้แบรนด์ใหม่ “MORE” ผลประกอบการก็ดูแปลก ๆ อันมิใช่ปกติวิสัยของการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไป

กำไรก็มาจากบันทึกรายการพิเศษ ส่วนขาดทุนก็มาจากผลดำเนินการจริง เพราะดำเนินธุรกิจที่ไม่สู้จะมีอนาคต

โดยปี 2561 รายได้รวม 62.54 ล้านบาท กำไรสุทธิ 115.82 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายได้เสียอีก, ปี 2562 รายได้ 40.31 ล้านบาท ขาดทุน 15.77 ล้านบาท, ปี 2563 รายได้ 42.27 ล้านบาท ขาดทุน 47.22 ล้านบาท แต่ปี 2564 สุดพิลึก รายได้แค่ 143.73 ล้านบาท แต่กำไรสูงถึง 1,158.67 ล้านบาท

หุ้นวิปลาสเช่นนี้ เล่นกันเข้าไปได้ยังไง แล้วก็เป็นเหตุให้มีการสร้างบันทึกโบว์ดำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจนได้

ปปง.ได้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ชั่วคราวผู้มีรายชื่อเกี่ยวข้องจำนวน 25 ราย บัญชีทรัพย์สิน 34 รายการ มูลค่ารวม 5,376 ล้านบาท

นี่เป็นเพียงคำสั่งอายัดทรัพย์ชั่วคราว ผู้ถูกอายัดทรัพย์ต้องชี้แจงภายใน 90 วัน หากไม่พบความผิดปกติก็ถอนอายัด แต่หากพบความผิดปกติก็ดำเนินคดีต่อไป แต่ฝั่งผู้ขายบางรายก็น่าสงสัยเพราะนอกจากเอาตัวเองมาซื้อหุ้นกระจอกแล้ว ยังลากเอาบริษัทในว่านเครือเข้ามาลงทุนในบริษัทที่มีเงื่อนงำเช่นนี้ด้วย

แน่ละ! ปมใหญ่ที่เป็นต้นเหตุในการสาวไส้หุ้น MORE เที่ยวนี้ ก็เพราะดันมีผู้สั่งซื้อรายเดียว เปิดบัญชีซื้อหุ้น MORE กับโบรกเกอร์กว่า 10 แห่ง และก็มีผู้ขายมากกว่า 20 ราย ซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นพวกเดียวกัน ขายหุ้นให้จำนวนมากถึง 1,500 หุ้น ในช่วง ATO ก่อนเปิดตลาดในราคาซื้อเท่ากันเป๊ะที่ 2.90 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 4,350 ล้านบาท

ผู้ซื้อใจกล้ารายนั้นคือนายอภิมุข บำรุงวงศ์ ยอมไม่จ่ายเงินโบรกเกอร์ฝั่งผู้ซื้อ โบรกเกอร์ฝั่งผู้ขายก็ต้องรับเละโดยไม่ได้รับเงินจากฝั่งผู้ซื้อ โบรกเกอร์ฝั่งผู้ขายจะไปไล่เบี้ยเรียกร้องค่าเสียหายเอากับใคร คงจะเป็นกรณีศึกษาต่อไปว่าจะไปเรียกร้องเอากับใครได้

หรือหากพิสูจน์ทราบได้ว่า ฝั่งผู้ซื้อกับฝั่งผู้ขายเป็นพวกเดียวกันร่วมกันทุจริต เพื่อจะได้เงินออกไปจากตลาดหุ้น การเยียวยาค่าเสียหายก็คงจะง่ายขึ้น

แต่การพิสูจน์เรื่องนี้ มันจะง่ายละหรือ!

กรณี “ปล้นโบรกเกอร์” เช่นนี้ ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในตลาดหุ้นไทย ผมลองคิดเล่น ๆ ดูว่า หากในช่วงเปิดการซื้อขาย ATO ในเช้าวันที่ 10 พ.ย.นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งยกเลิกการซื้อขายอันผิดปกติทั้งจำนวนหุ้นที่มากถึง 1,500 ล้านหุ้น จำนวนเงินสูงถึง 4.35 พันล้าน โดยมีผู้ทำรายการซื้อแค่รายเดียว แถมยังเป็น “หุ้นสีเทา” ปัญหาก็คงจะง่ายกว่านี้เยอะ

เสียงวิจารณ์การบริหารจัดการของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็คงไม่มากมายและอื้ออึงเช่นนี้

Back to top button