จารึกประวัติศาสตร์ ‘อาคม’ รมว.รีดภาษีหุ้น

แวดวงตลาดทุนหวั่นวิตกว่า ระหว่างการจัดเก็บภาษีที่รัฐได้รับเงินเข้าคลังเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท กับสภาพคล่องของตลาดหุ้นอาจหดหาย


เส้นทางนักลงทุน

แวดวงตลาดหุ้นไทยมีประเด็นใหญ่ให้ต้องมานั่งจับเข่าคุยกันอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่มี “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เปิดไฟเขียวให้จัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย

โดยในการประชุม ครม. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานครั้งนี้ ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่ … พ.ศ. … (การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ)

การจัดเก็บภาษีขายหุ้นเป็นประเด็นร้อนแรงที่มีการพูดถึงกันมานาน แต่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนกล้าตัดสินใจเรื่องนี้มาก่อน เพราะเมื่อพูดถึงทีไร นักลงทุนจะตื่นตระหนกตกใจเทขายหุ้นออกมาหนักทุกที

การจัดเก็บภาษีขายหุ้น สำหรับประเทศไทยได้ยกเว้นการใช้กฎหมายนี้มายาวนานกว่า 30 ปี โดยมีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ณ สถานการณ์ปัจจุบัน กฎหมายนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบร่างจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หากไม่มีการแก้ไขใด ๆ ก็น่าจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้

สิ่งที่จะตามมาเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ คือการเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอในอัตรา 0.10% เป็นการเก็บภาษีจากธุรกรรมขาขายหุ้น (Transaction Tax) ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

การจัดเก็บภาษีนี้จะมีช่วงโปรโมชั่น แบ่งเป็น เฟสที่ 1  คือ ปีแรก (ปี 2566) จะเก็บในอัตรา 0.055% แบ่งออกเป็น ภาษีขายหุ้น 0.050% และภาษีท้องถิ่น 0.005%

ขณะที่ ในเฟสถัดไป คือตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป อัตราการจัดเก็บจะขยับไปเต็มอัตราที่ 0.10% และเมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่นจะกลายเป็น 0.11%

แนวทางที่ว่านี้ จะมีการเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรกที่มีการขาย โดยโบรกเกอร์จะเป็นตัวกลางทำหน้าที่นำส่งภาษีการขายดังกล่าวนี้มาให้กับกรมสรรพากรทุก ๆ เดือน

เบื้องต้นมีการคำนวณว่า เฉพาะปีแรกของการเก็บภาษีที่ยังไม่เต็มเพดาน รัฐบาลน่าจะเก็บรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท และเมื่อจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือภาษีการขายหุ้นนี้ถูกยกเว้นการจัดเก็บมายาวนาน เมื่อจะกลับมาเก็บ ย่อมทำให้หลายฝ่ายได้รับผลกระทบแน่ เพราะไม่ว่ารายการที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้นักลงทุนได้กำไร หรือขาดทุน ก็จะต้องเสียภาษีนี้เพิ่มขึ้นเสมอ

ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ให้ความเห็นว่ายังมี 4 ปัจจัยที่ภาครัฐควรพิจารณาเพิ่มเติมก่อนจะตัดสินใจเก็บภาษีส่วนนี้ คือ

1.อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือภาษีขายหุ้น ที่อัตรา  0.10% ไม่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจปัจจุบัน เป็นอัตราที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2534

และเมื่ออัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 0.5% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราภาษี 0.10% แล้วเป็นอัตราส่วน 5:1 เท่า

ในขณะที่ปัจจุบันการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้อัตราค่าคอมมิชชั่นโดยเฉลี่ยในอุตสาหกรรมลดลงเหลือเพียง 0.08% เท่านั้น

ดังนั้น หากภาครัฐยังจัดเก็บภาษีขายหุ้นที่ระดับ 0.10% รวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% คิดเป็น 0.11% จะทำให้อัตราส่วนระหว่างค่าคอมมิชชั่นและภาษีจะเป็น 0.7:1 เท่า ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายได้ในการให้บริการซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ โดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าภาษีธุรกิจเฉพาะเสียอีก

ภาษีนี้ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ลงทุนที่สูงขึ้นเกินเท่าตัว และจะกระทบต่อสภาพคล่อง การตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งกลุ่มรายย่อยที่ลงทุนโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์ฯ และลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนต่าง ๆ และผู้ลงทุนต่างประเทศด้วย

2.ต้นทุนการระดมทุน (Cost Of Capital) ของภาคธุรกิจจะยิ่งสูงขึ้น เมื่อสภาพคล่องในตลาดหดตัวจากต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สูงขึ้น 1 เท่าตัว

ทั้ง ๆ ที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่สามารถกลับมาขับเคลื่อนได้เต็มที่เหมือนช่วงก่อนโควิด จะกระทบให้บริษัทจดทะเบียนต้องชะลอหรือลดการลงทุนทางธุรกิจ และกระทบต่อการจ้างงาน และ GDP ของประเทศในท้ายที่สุด

3.เกิดต้นทุนภาษีซ้ำซ้อน (Double Taxation) สำหรับธุรกรรมการพัฒนาสินค้าตลาดทุนใหม่ ๆ การเก็บภาษีจะจำกัดการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน โอกาสของผู้ให้บริการ และขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลกได้

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่าช่วงแรกอาจเกิดผลกระทบต่อตลาดทุนบ้างจากการปรับตัว แต่เชื่อว่าภาพรวมจะไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อตลาดทุน โดยเฉพาะเงินทุนเคลื่อนย้าย

ธปท.ยังเชื่อว่าแม้การเก็บภาษีขายหุ้นจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาจากกำไรของภาคธุรกิจที่จะดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว จะไม่สร้างปัญหาในภาพรวมของการเคลื่อนย้ายเงินทุน

นับตั้งแต่ต้นปี 2565 เงินทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยกว่า 185,594 ล้านบาท สวนทางกองทุน พอร์ตโบรกเกอร์ และรายย่อยที่เป็นฝ่ายขายมาโดยตลอด

แต่แวดวงตลาดทุนหวั่นวิตกว่า ระหว่างการจัดเก็บภาษีตามมตินี้ ซึ่งจะทำให้รัฐได้รับเงินเข้าคลังเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท กับสภาพคล่องของตลาดหุ้น ภายหลังกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ที่อาจจะหดหาย โดยเบื้องต้นประเมินว่าวอลุ่มซื้อขายจะวูบหายไป 40% นั้น น่าจะเป็นมูลค่าความเสียหายที่มากกว่า

นอกจากนี้ ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยซึ่งเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องมากที่สุดในอาเซียน เพราะมีอัตราค่าคอมมิชชั่นถูกกว่าตลาดทุนอื่น ๆ อาจจะต้องสูญเสียความเป็นแชมป์ไป และอาจทำให้การพัฒนาตลาดทุนไทยในระยะถัดไปต้องสะดุด!!!

Back to top button