เศรษฐกิจถดถอย ‘ความเสี่ยง’ หุ้นไทยปี 2566

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับตลาดหุ้นไทยปี 66 โดยมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ-ยุโรป จะเข้าสู่ภาวะถดถอย


เส้นทางนักลงทุน

Economic Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับตลาดหุ้นไทยในปี 2566 โดยมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อมูลจาก Bloomberg ชี้ว่าปี 2566 ยุโรปมีโอกาสเกิด Recession เพิ่มขึ้นเป็น 80% สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 63% ส่วนไทยยังห่างไกล และลดลงเหลือเพียง 13% เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นเด่นกว่าหลายประเทศ

สำนักเศรษฐกิจต่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2566 จะเติบโต 3.7% และ 4.3% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดมีสัญญาณการขาดดุลลดลง โดยดุลการค้าดีขึ้นจากการนำเข้าต้นทุนพลังงานที่ราคาเริ่มลดลง และดุลบริการปรับตัวดีขึ้น หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเดินทางข้ามพื้นที่

ขณะที่ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศกำลังฟื้นตัว รวมทั้งความคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีการออกแพ็กเกจใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไป

และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนเงินลงทุนของต่างชาติ (Fund Flow) คาดหวังว่าจะไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นต่อเนื่อง จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2566

แต่ในมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ที่มีต่อทิศทางการลงทุนและตลาดหุ้นไทยในปี 2566 เห็นว่าตลาดจะให้น้ำหนักมากขึ้นกับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ยากลำบาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว

ความกังวลเศรษฐกิจถดถอย นอกจากจะสะท้อนมาในส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Bond Yield) คู่ของอายุ 10 ปี และ 2 ปี ที่ติดลบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ล่าสุดส่วนต่าง US Bond Yield คู่ของอายุ 10 ปี และ 3 เดือน เพิ่งติดลบในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นคู่สำคัญที่ช่วยยืนยันโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยใช้เวลาเฉลี่ย 19 เดือนหลัง Yield Curve ติดลบ

แม้คาดว่าการประชุมธนาคารกลางสำคัญในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งสหรัฐฯ (FED), สหภาพยุโรป (ECB) และอังกฤษ (BOE) จะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 50 เบสิตพอยต์ (bps) เทียบกับที่เคยขึ้นดอกเบี้ย 75 เบสิตพอยต์ ในการประชุมครั้งก่อน

แต่ตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้น 2 เดือนติดต่อกันในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมกว่า 14% ได้ตอบสนองเชิงบวกไปพอสมควรแล้ว โดยราคาหุ้นจะตอบสนองล่วงหน้าด้วยการปรับตัวลงก่อนประมาณ 6 เดือน

ดังนั้น หากอิงการปรับฐานลงครั้งใหญ่ของราคาหุ้นในอดีตเทียบกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน นักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนมากเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 เป็นต้นไป

ในส่วนของมุมมองกำไรสุทธิต่อหุ้น และดัชนีหุ้นไทยนั้น บล.ทิสโก้ ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด (SET EPS) ปี 2565-2566 เป็น 96 บาท และ 99.5 บาท จากเดิม 99.9 บาท และ 103.8 บาท ตามลำดับ

ส่งผลให้เป้าหมาย SET Index เหมาะสมสิ้นปี 2565 ปรับลงจากเดิม 1,700 จุด เป็น 1,650 จุด (หลัก ๆ จากการปรับ SET EPS ลง) และสิ้นปี 2566 ปรับลดลงจากเดิม 1,680 จุด เป็น 1,590 จุด (มาจากการปรับ SET EPS ลง)

และปรับระดับ P/E ที่เหมาะสมลงจาก 16.6 เท่า เป็น 15.4 เท่า เพื่อสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยและรัฐเตรียมเก็บภาษีการขายหุ้น

อย่างไรก็ดี มอง SET Index ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ในเชิงบวกจากโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง, โอกาสเกิดการเลือกตั้ง และคาดหวังจีนจะทยอยเปิดประเทศ โดยคาด SET Index มีโอกาสที่จะขึ้นทะลุระดับ 1,700 จุด ในช่วงครึ่งปีแรกก่อนที่จะปรับตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2566 ยังเป็นบวก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาสที่ 2 เพราะคาดว่าตลาดหุ้นจะได้แรงหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และความหวังว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการเลือกตั้งของไทยที่จะมีขึ้นในปีหน้า

ทั้งนี้ มองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2566 มีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 1,690-1,750 จุด ได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี หลังจากนั้นยังต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงเรื่องการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศพัฒนาแล้ว

ส่วน fund flow คาดจะมีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่องยาวไปจนถึงช่วงไตรมาสแรก เพราะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มเงินทุนที่จะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเกิดใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นอาเซียนจากภาพรวมเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นอาจต้องดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง

ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส มองว่าแรงกดดันตลาดการเงินโลกดูผ่อนคลายลงมาระดับหนึ่ง เงินเฟ้อหลายประเทศเริ่มแผ่วลง ทำให้อัตราดอกเบี้ยเริ่มเข้าใกล้จุดที่เหมาะสม จึงคาดว่าในปีหน้ากรอบบนการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะถูกจำกัดอยู่ที่ระดับ 5.25% เห็นได้ว่าระดับการขยับขึ้นค่อนข้างจำกัด ช่วยลดความผันผวนทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ชัดเจนมากขึ้น ทั้งจากการเกิด Inverted Yield Curve ของ Bond 10 ปี และ 2 ปี ของสหรัฐฯ ที่ยาวนาน

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 2566 คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 แต่อัตราการเติบโตจะไม่เท่ากับปีนี้ โดยประเมินอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ปีหน้าจะทำได้ที่ระดับ 5-6% ทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ไม่น่าจะมากนัก โดยมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันได้เพียง 5-6% เท่านั้น

Recession เป็นความเสี่ยงหลักของตลาดหุ้นในปีหน้า แต่ก็ไม่ควรลืมว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ ภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงการเลือกตั้งภายในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้การเมืองเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการลงทุนในตลาดหุ้นได้เช่นกัน

Back to top button