ไตรมาส 4 โบรกฯ บักโกรก

ใกล้เทศกาลหยุดยาวปีใหม่ ตลาดหุ้นไทยยิ่งเฉา วอลุ่มยิ่งซบเซาหนักกว่าเดิม เป็นไปได้สูงว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 4 นี้ โบรกเกอร์ “บักโกรก” แน่นอน


เส้นทางนักลงทุน

บริษัทจดทะเบียนหมวดการเงิน ในกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ เฉพาะบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP), บมจ.หลักทรัพย์ บียอนด์ (BYD), บมจ.หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (FSS), บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย (KGI)

รวมทั้ง บมจ.หลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน ประเทศไทย (UOBKH), บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX), บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG), บมจ.ทรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) และ บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ดำเนินธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจการเงิน โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เป็นบริษัทแกน

รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ประจำปี 2565 มีกำไรสุทธิรวมกันทั้งสิ้น 547.52 ล้านบาท ลดลง 668.21 ล้านบาท หรือลดลง 54.96% จากไตรมาส 3 ปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิรวม 1,215.73 ล้านบาท

ขณะที่กำไรสุทธิงวด 9 เดือนลดลง 2,197.10 ล้านบาท วูบไป 60.52% มาอยู่ที่ 1,433.55 ล้านบาท จาก 3,630.65 ล้านบาท ในงวดเดียวกันปีก่อน

ประเด็นหลัก ๆ ของรายได้และกำไรที่ลดลง มาจากมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) เฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นไทยลดลงอย่างชัดเจน เห็นได้จากในช่วงไตรมาสแรกปีนี้วอลุ่มเทรดเฉลี่ยทั้งไตรมาสอยู่ที่ 89,304.11 ล้านบาท (60 วันทำการ) ไตรมาส 1 นี้เริ่มมีปัจจัยลบผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่ยังไม่รุนแรงมากนัก

กระทั่งไตรมาส 2 ผลกระทบดังกล่าวเริ่มขยายวงกว้าง วอลุ่มการซื้อขายก็เริ่มหดตัวลงไปเหลือ 70,593.38 ล้านบาทต่อวัน (57 วันทำการ) และเมื่อก้าวเข้าสู่ไตรมาส 3 วอลุ่มเฉลี่ยทั้งไตรมาสยิ่งหดหายเหลือเพียง 66,727.63 ล้านบาทต่อวัน (62 วันทำการ)

หากใช้ 9 บริษัทหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นฐานแล้ว มีสัญญาณให้ประเมินได้ว่ากำไรของบริษัทหลักทรัพย์จะถดถอยลงไปอีก เพราะมูลค่าการซื้อขายในไตรมาสสุดท้ายของปี ฝ่อลงทุกวัน เหลือเฉลี่ย 59,358.20 ล้านบาท (ณ 14 ธันวาคม รวม 48 วันทำการ)

นี่ขนาดยังไม่รวมผลกระทบจากเหตุการณ์ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2565 จนทำให้โบรกเกอร์หลายรายต้องควักเนื้อจ่ายเงินค่าซื้อหุ้น MORE แทนผู้ส่งคำสั่งเจ้าปัญหาไปก่อน รวมทั้งคาดเดาไม่ได้ว่าเงินก้อนนี้จะได้กลับคืนมาหรือไม่อีกด้วย

เคส MORE ถือว่ามีส่วนอย่างมากที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4 ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าเหงาหงอย เนื่องจากบทเรียนเหตุการณ์ในครั้งนั้นปลุกให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตื่นขึ้นมาผนึกกำลังกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) รื้อเกณฑ์ครั้งใหญ่ สกัดกั้นปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยหุ้น MORE อีก

โดยจะปรับปรุงกระบวนการและกลไกการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที สร้างความเชื่อมั่น สร้างการทำงานที่มีเอกภาพ

เบื้องต้นในระยะสั้น สิ่งที่บริษัทหลักทรัพย์สามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อบริหารความเสี่ยงคือ ทบทวนการพิจารณา risk profile ของลูกค้าที่อาจมีความไม่เหมาะสม มีความเสี่ยงสูง เช่น ลูกค้าที่มีวงเงินสูง มีการซื้อขายกระจุกในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะหุ้น Market Cap เล็ก

มีการปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานภายใน เพื่อลดและป้องกันความเสี่ยง รวมทั้งสร้างความพร้อมในการรับมือวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น เช่น การพิจารณาวงเงิน การพิจารณามูลค่าหลักประกัน

ส่วนในระยะยาว จะปรับปรุงประสิทธิภาพทั้งเชิงโครงสร้าง การปรับเกณฑ์ทั้งอุตสาหกรรม ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาดำเนินการในอนาคต ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรฐาน และระเบียบวิธีการดำเนินงาน เช่น การพิจารณาลูกค้า แนวทางการให้วงเงินลูกค้า การพิจารณาหลักประกัน

จะมีการพัฒนาศูนย์ข้อมูล (Investor Information Bureau) เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการบริหารความเสี่ยงเช่นเดียวกับ credit bureau เช่น ข้อมูลวงเงิน ข้อมูลการใช้วงเงิน เป็นต้น

งานนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเองก็จะเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการรับหลักทรัพย์ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิ

ปรับปรุงเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ในแต่ละตลาด (SET, mai, LiVEx) ให้มีความเหมาะสม ปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขาย การชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ ให้สอดคล้องกับพัฒนาการและความซับซ้อนของภาวะตลาดในปัจจุบัน

ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งแก้ไขกฎเกณฑ์การใช้ข้อมูลที่สำคัญเพื่อใช้ในการตรวจสอบ และวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อขาย เช่น ข้อมูลการถือครองหุ้น ตลอดจนปรับปรุงขั้นตอนในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานอื่น ๆ ให้สามารถป้องกันและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงทีและเหมาะสม

นอกจากนี้ จะหารือกับผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน ผสานความร่วมมือทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ลงทุน และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ขณะที่ในฝั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็จะเข้ามาดูเรื่องคุณภาพหุ้น IPO เข้มงวดขึ้น

ความซบเซาของตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4 ยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยนโยบายรัฐบาลที่เตรียมเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่น) จะเริ่มมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่ปีหน้า โดยวันที่ 1 พฤษภาคม-31 ธันวาคม 2566 จะเก็บในอัตรา 0.055% ก่อน และการก้าวเข้าสู่เทศกาลหยุดยาวตลาดหุ้นไทยจึงขาดเสน่ห์

ยิ่งเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของเดือนธันวาคม ใกล้เทศกาลหยุดยาวปีใหม่ ตลาดหุ้นไทยยิ่งเฉา วอลุ่มยิ่งซบเซาหนักกว่าเดิม ยิ่งช่วยยืนยันความเป็นไปได้สูงว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 4 นี้ โบรกเกอร์ “บักโกรก” แน่นอน

Back to top button