‘สหรัฐ’ ปากว่าตาขยิบ

การสนับสนุนการทำรัฐประหารเมียนมาเป็นเรื่องที่เลื่อนลอย แต่แท้จริงแล้วทำเพื่อแสวงผลประโยชน์ให้สหรัฐฯ เองมากกว่า


หลังเกิดปฏิวัติรัฐประหารในเมียนมา จนนำมาสู่รัฐบาลทหาร ที่นำโดยพลเอกอาวุโส มี่นอองไลง์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้าคณะรัฐประหาร ทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกออกมาคัดค้านและประณามการกระทำดังกล่าว มีการออกกฎหมายบังคับให้บริษัทต่างชาติหยุดการลงทุนตลอดจนหยุดการดำเนินกิจการทั้งหมดในเมียนมา เพื่อไม่เป็นการสนับสนุนการรัฐประหาร ที่อาจเข้าข่ายมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

หนึ่งในนั้นคือ “โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติยาดานา” ที่มีผู้ร่วมลงทุน 4 ฝ่าย นั่นคือ..กลุ่มโททาล (สัญชาติฝรั่งเศส), กลุ่มเชฟรอน (สัญชาติสหรัฐฯ), PTTEP (สัญชาติไทย) และเมียนมา ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมากดดันอย่างหนัก ถึงขั้นขู่คว่ำบาตรประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ปฏิบัติตาม จนทำให้ “กลุ่มโททาล” จากฝรั่งเศส ต้องถอนการลงทุนโครงการยาดานาออกไปทั้งหมด

ขณะที่กระทรวงต่างประเทศไทย ถูกกดดันจากสหรัฐฯ อย่างหนัก โดยถึงขั้นข่มขู่ให้ไทย (โดย PTTEP) ถอนการลงทุนในโครงการยาดานาเช่นกัน โดยกล่าวอ้างว่า มีส่วนให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา อันเป็นการกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

เรื่องนี้ PTTEP ให้ความกระจ่างว่า..เป็นการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สามารถช่วยรักษาความต่อเนื่อง ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 ประเทศ ที่สำคัญปัจจุบันโครงการยาดานา มีปริมาณขายเฉลี่ยที่ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าคิด 11% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยและ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประชาชนเมียนมา

แต่เป็นที่แปลกใจว่า..ระหว่างที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไล่กดดันและบีบบังคับให้ชาติต่าง ๆ ถอนการลงทุนโครงการยาดานา แต่กลับพบว่า “เชฟรอน” กลุ่มทุนสัญชาติสหรัฐฯ แท้ ๆ ไม่เพียงไม่ถอนการลงทุน แต่กลับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนมากขึ้น หลังจาก “โททาล” ถอนตัวออกไป ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นโครงการยาดานา ล่าสุดคือ Unocal Myanmar Offshore Company Limited (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเชฟรอน) 41.1016% (จากเดิม 28.2625%), PTTEPI 37.0842% (จากเดิม 25.5%) และ Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) 21.8142% (เดิม 15%)

กรณีการขับไล่ประเทศอื่นออกจากเมียนมา แต่กลับปล่อยให้กลุ่มทุนสหรัฐฯ เพิ่มสัดส่วนลงทุนในเมียนมาซะเองเช่นนี้..ทำให้เห็นพฤติกรรม “ปากว่าตาขยิบ” ของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างชัดเจน

สำหรับโครงการยาดานา ถือกำเนิดขึ้น เมื่อช่วงปลายปี 2537 โดยคณะรัฐมนตรีนายชวน หลีกภัย มีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ในนามบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้าร่วมโครงการสำรวจและพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาพื้นที่อ่าวเมาะตะมะ ภายใต้ยุทธศาสตร์การนำพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติ) มาสร้างกระแสไฟฟ้าให้กับประทศไทย

จากนั้นวันที่ 2 ก.พ. 2538 รัฐบาลได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด

(มหาชน) หรือ PTT (หรือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย..ในสมัยนั้น) กับผู้รับสัมปทานโครงการยาดานา ที่มีผู้ร่วมทุน คือ กลุ่มโททาล (Total Maynmar Exploration and Product ถือหุ้น 31.23%, กลุ่มเชฟรอน (Unocal Myanmar Offshore) ถือหุ้น 28.26%, PTTEP ถือหุ้น 25.5% และ Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) ถือหุ้น 15%

เมื่อดูจากที่มาโครงการยาดานาบ่งบอกได้ชัดว่า สิ่งที่สหรัฐฯ พยายามยกเมฆว่าเป็นการสนับสนุนการทำรัฐประหารเมียนมาเป็นเรื่องที่เลื่อนลอย แต่แท้จริงแล้วทำเพื่อแสวงผลประโยชน์ให้สหรัฐฯ เองมากกว่า เพราะอย่าลืมว่าหากโครงการยาดานาต้องหยุดลง นั่นจะเป็นการซ้ำเติมและลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวเมียนมาอย่างแท้จริง..!!!

Back to top button