SINGER สินเชื่อจำนำทะเบียนเด่น

SINGER เป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าซิงเกอร์ เช่น จักรเย็บผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเชิงพาณิชย์


คุณค่าบริษัท

บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าซิงเกอร์ เช่น จักรเย็บผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเชิงพาณิชย์ เช่น เครื่องสูบน้ำ, โทรศัพท์มือถือออนไลน์ ให้กับกลุ่มลูกค้าบ้านและกลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์ ผ่านร้านค้าปลีก ซึ่งเป็นสาขาของบริษัทเอง และผ่านทางตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ มากกว่า 80% ของยอดขายเป็นการขายแบบเช่าซื้อ โดยบริษัทให้เช่าซื้อผ่านทาง บมจ.เอสจี แคปปิตอล หรือ SGC ซึ่ง SINGER ถือหุ้น 74.92% มีธุรกิจหลักคือสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า สัดส่วน 41.6% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถหลายประเภท สัดส่วน 56.7%

SINGER รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2565 มีกำไรสุทธิ 261.04 ล้านบาท เติบโต 58.08% จากไตรมาส 3/2564 ที่มีกำไร 165.13 ล้านบาท แต่ลดลง 1.65% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 ที่ 265.42 ล้านบาท รายได้จากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าไตรมาส 3/2565 ชะลอตัวลง แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น 38.87% จากไตรมาส 3/2564 แต่ลดลง 22.65% จากไตรมาส 2/2565 อัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 45.3% ขยับสูงขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 2/2565 ที่ 44.4% พอร์ตสินเชื่อรวมไตรมาส 3/2565 เติบโต 58.67% จากไตรมาส 3/2564 และขยายตัว 9.36% จากไตรมาส 2/2565 สินเชื่อจำนำทะเบียนเติบโตได้ดีสูงถึง 70.8% จากไตรมาส 3/2564 และขยายตัว 12.73% เมื่อเทียบไตรมาส 2/2565 ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัว 46.82% จากไตรมาส 3/2564 และเพิ่มขึ้น 5.77% จากไตรมาส 2/2565 ขณะที่อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นโดดเด่น 2% จาก 17.8% ในไตรมาส 2/2565 มาที่ระดับ 19.8% ในไตรมาส 3/2565

ยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Gross) ไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 555 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.73% จากไตรมาส 2/2565 และเพิ่มขึ้น 54.17% จากไตรมาส 3/2565 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 3.7% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วน NPL จากสินเชื่อจำนำทะเบียนไตรมาส 3/2565 ยังค่อนข้างต่ำและสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งมี NPL Gross ลดลง 15% จากไตรมาส 2/2565 แต่เพิ่มขึ้น 83% เมื่อเทียบไตรมาส 3/2564 ส่วน NPL Gross จากสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าไตรมาส 3/2565 เพิ่มสูงขึ้น 16% จากไตรมาส 2/2565 และเพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบไตรมาส 3/2564 ด้วยระดับ NPL Ratio ที่ 7.4% ในไตรมาส 3/2565 สูงขึ้นจาก 6.7% ในไตรมาส 2/2565 ซึ่งระดับ NPL Ratio ที่สูงขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น

SINGER มีสถานะเป็นช่องทางหลักในการขยายการเติบโตของกลุ่ม JMART ในการขายสินค้าและปล่อยสินเชื่อให้เงินกู้ยืมให้กับลูกค้า จากยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้างวด 9 เดือนปี 2565 ของ SINGER ที่ 2,289.6 ล้านบาท 30-40% จะมาจากยอดขายสินค้าในกลุ่มโทรศัพท์มือถือ (บริษัท J Mobile ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ JMART ถือหุ้น 100%) ส่วนการร่วมลงทุนล่าสุดระหว่าง JMART กับ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR นั้น SINGER จะปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งทำเกษตรพันธะสัญญากับ BRR จะทำให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ เนื่องจากวงเงินสินเชื่อทั้งหมดจะได้รับการค้ำประกันจาก BRR การปล่อยสินเชื่อดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อของ SINGER สู่ระดับ 5 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี จากพอร์ตปัจจุบันที่ 1.5 หมื่นล้านบาท

บล.เคจีไอ ระบุว่า จากการที่ SINGER ได้ Spin-off บริษัทย่อย บมจ.เอสจี แคปปิตอล หรือ SGC จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ SINGER ใน SGC ลดลงไป 25% และจะทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิของ SINGER ในปี 2566 และ 2567 ลดลงราวปีละ 10% ส่วนเงินทุนใหม่ที่ได้จากการทำ IPO จะช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้ SINGER ได้ราว 140 ล้านบาท

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น SINGER ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 23 ธ.ค. 2565 ที่ 27.75 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 23.90 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย P/E กลุ่มพาณิชย์ที่ 30.51 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น SINGER อยู่ที่ 1.52 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มพาณิชย์ที่ 2.62 เท่า

Back to top button