บาดแผลโบรกฯ จากเชื้อร้าย MORE

บาดแผลของบรรดาบริษัทหลักทรัพย์อันเกิดจาก MORE กำลังเริ่มสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ผ่านไส้ในงบการเงิน Q4/65 ที่กำลังจะทยอยกันออกมา


บาดแผลของบรรดาบริษัทหลักทรัพย์อันเกิดจากบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE กำลังเริ่มสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ผ่านไส้ในงบการเงินไตรมาส 4/65 ที่กำลังจะทยอยกันออกมา ประเดิมด้วยธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ที่รับผลกระทบผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPS

โดย KKP ที่ระบุในหมายเหตุงบการเงินว่า..

“ส่วนของธุรกิจตลาดทุนได้มีการตั้งสำรองเพิ่มเติมจำนวน 708 ล้านบาท ในปี 2565 เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนของธุรกิจตลาดทุนปรับลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564”

แม้ไม่ได้บอกกันตรง ๆ ว่า ตั้งสำรองความเสียหายจากหุ้น MORE แต่เป็นที่รู้กันดีว่ารายการพิเศษที่ว่า เป็นบาดแผลที่ได้รับมาจากหุ้น MORE นั่นเอง.!!

หากย้อนไปดูตัวเลขการซื้อขายอื้อฉาวหุ้น MORE เมื่อ 10 พ.ย. 65 พบว่า บล.เกียรตินาคินภัทร มียอดซื้อสุทธิ 765.32 ล้านบาท..นั่นก็สอดคล้องกับตัวเลขตั้งสำรองฯ อย่างมิต้องสงสัย..!!

เห็นอย่างนี้แล้ว..น่าสะพรึงไปถึงอีกหลายโบรกเกอร์ (ฝั่งซื้อ) ที่อาจต้องเผชิญชะตากรรมตั้งสำรองฯ ความเสียหายอันเกิดจากหุ้น MORE เช่นเดียวกับ KKPS ด้วย

หากไปดู “โบรกเกอร์ฝั่งซื้อ” หุ้น MORE ในวันวิปโยคดังกล่าวพบว่านอกเหนือจาก KKPS แล้วยังมีอีก 8 แห่ง

เริ่มจาก 1) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS มีมูลค่าซื้อสุทธิ 926.74 ล้านบาท 2) บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNITY มูลค่าซื้อสุทธิ 474.50 ล้านบาท 3) บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด มีมูลค่าซื้อสุทธิ 430.26 ล้านบาท

4) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด หรือ KTX มูลค่าซื้อสุทธิ 342.62 ล้านบาท 5) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ดาโอ จำกัด มูลค่าซื้อสุทธิ 341.65 ล้านบาท 6) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI มูลค่าซื้อสุทธิ 169.34 ล้านบาท

7) บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด หรือ AWS มีมูลค่าซื้อสุทธิ 162.56 ล้านบาท และ 8) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MST มูลค่าซื้อสุทธิ 81 ล้านบาท

ส่วนโบรกเกอร์ไหน..จะกระทบต่อกำไรสุทธิเท่าไหร่..อันนี้ขึ้นอยู่กับฐานกำไรปกติกันแล้วล่ะ..

สรุปให้พอเข้าใจง่าย ๆ คือ..โบรกไหนฐานกำไรสูงย่อมกระทบน้อย..หากแต่โบรกเกอร์ไหนฐานกำไรต่ำย่อมกระทบมาก อะไรประมาณนั้น..!!??

ในทางกลับกันมาดู “โบกรเกอร์ฝั่งขาย” อันนี้ถือว่าโชคดีไป..!!

เริ่มตั้งแต่ 1) บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด หรือ INVX มูลค่าขายสุทธิ 1,856.83 ล้านบาท 2) บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด (ASL) มูลค่าขายสุทธิ 624.75 ล้านบาท 3) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS มูลค่าขายสุทธิ 528.02 ล้านบาท 4) บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ UBS มูลค่าขายสุทธิ 233.66 ล้านบาท

5) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS มูลค่าขายสุทธิ 136.57 ล้านบาท 6) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด หรือ YUANTA มูลค่าขายสุทธิ 134.99 ล้านบาท 7) บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) หรือ AIRA มูลค่าขายสุทธิ 131.24 ล้านบาท 8) บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ Pi มูลค่าขายสุทธิ 34.38 ล้านบาท และ 9) บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KS มูลค่าขายสุทธิ 33.24 ล้านบาท

สรุปว่าฝั่งนี้ “นั่งจิบไวน์ชมวิว” กันได้อย่างสบายใจ..!!

ยกเว้นซะแต่ว่า..หากธุรกรรมการซื้อขาย MORE เกิดจากการ “ฉ้อโกง” อันนี้ก็คง..MORE ละครับบ..!!

Back to top button