โบรกฯ เทใจให้ PTTEP

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น ความน่าสนใจพุ่งไปที่กลุ่มพลังงาน และปิโตรเลียม โดย PTTEP เป็นตัวแรกที่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะได้ประโยชน์สูงสุด


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส (OPEC+) ได้สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดโลกด้วยการประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันขนานใหญ่ หั่นการผลิตน้ำมันลงอีก 1.16 ล้านบาร์เรล/วัน นับตั้งแต่เดือนพฤษาคมไปจนถึงสิ้นปี 2566

จากก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า โอเปกพลัสจะคงนโยบายการผลิตน้ำมันด้วยการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566

การตัดสินใจของโอเปกพลัสครั้งนี้จะส่งผลให้ปริมาณการปรับลดการผลิตน้ำมันโดยรวมของโอเปกพลัสอยู่ที่ 3.66 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก ตัวเลขนี้เป็นระดับที่มีนัยสำคัญมากต่อสมดุลของดีมานด์ (Demand) และซัพพลาย (Supply)

รวมทั้งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งขึ้นอีก ตามมาด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า สัญญาน้ำมันดิบเบรนต์ (BRENT) สำหรับการส่งมอบในเดือนธันวาคม 2566 จะเพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์ฯ สู่ระดับ 95 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล และคาดว่าสัญญาน้ำมันดิบเบรนต์สำหรับการส่งมอบในเดือนธันวาคม 2567 จะเพิ่มขึ้น 3 ดอลลาร์ฯ สู่ระดับ 100 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว ความน่าสนใจพุ่งไปที่กลุ่มพลังงานและปิโตรเลียม โดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เป็นหุ้นตัวแรก ๆ ที่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ยกมือโหวตเสียงให้ว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดในภาวะเช่นนี้

ในวันที่ 3-4 เมษายน 2566 ที่โอเปกพลัสประกาศการตัดสินใจดังกล่าวออกมา ราคาหุ้น PTTEP ตอบสนองข่าวดีในทิศทางขาขึ้นวิ่งไป 2 วันติดต่อกันเกือบ 7% จากระดับ 150.50 บาท สู่ระดับ 160.50 บาท จากนั้นโดนเทขายทำกำไร ราคาหุ้นถอยลงสู่ระดับ 158.50 บาท ณ วันที่  7 เมษายน 2566

ราคาหุ้น PTTEP จะไปต่อได้อีกหรือไม่ จากการสำรวจโบรกเกอร์ 18 ราย พบว่าราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่โบรกเกอร์ให้ จะอยู่ที่ 177.39 บาท โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ราคาเป้าหมายต่ำสุด 160 บาท หากอิงจากฐานโบรกเกอร์รายนี้ ถือว่าอัพไซด์แทบจะเต็มเพดานแล้ว

ขณะที่ บล.บัวหลวง ให้ราคาเป้าหมายสูงสุด 200 บาท ให้เหตุผลในการแนะนำ “ซื้อ” จากคาดว่ากำไรหลักไตรมาส 1 ปี 2566 ของ PTTEP จะอยู่ที่ 19,357 ล้านบาท เติบโต 3% จากปีก่อน แต่ลดลง 31% จากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ไม่รวมรายการพิเศษ โดยหลักจากกำไรจากตราสารอนุพันธ์และการตัดจำหน่ายเงินทุนหมุนเวียนและค่าความนิยม (goodwill) ของแหล่งบงกชที่ผูกกับสัมปทานเดิม

และมองกำไรสุทธิที่ 18,369 ล้านบาท เติบโต 75% จากปีก่อน และ 18% จากไตรมาสก่อน กำไรหลักที่เติบโตจากปีก่อน มีปัจจัยหนุนมาจากปริมาณขายปิโตรเลียมที่สูงขึ้น ในขณะที่ปัจจัยกดดันกำไรหลักให้ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน ได้แก่ ปริมาณขายที่ลดลง และราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง แต่ต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากไตรมาสก่อนน่าจะช่วยบรรเทาการลดลงของกำไรหลักได้บางส่วน

ปริมาณขายปิโตรเลียมคาดว่าจะอยู่ที่ 4.69 แสนบาร์เรล/วัน ในไตรมาส 1 ปี 2566 เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน การรับรู้ยอดขายที่มากขึ้นจาก Block-H ของประเทศมาเลเซีย, จากโครงการ HBR ประเทศแอลจีเรีย, จากโครงการ Arthit และจากโครงการ G1 (เอราวัณ) และ G2 (บงกช) แต่ลดลง 6% จากไตรมาสก่อน การรับรู้ยอดขายที่ลดลงจาก Block-61 Oman และ Sabah-H ประเทศมาเลเซีย ประมาณการราคาขายเฉลี่ยที่ 50.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 1% จากปีก่อน และ 4% จากไตรมาสก่อน คาดต้นทุนต่อหน่วยของ PTTEP ที่ 27 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น แต่ลดลง 8% จากไตรมาสก่อน ตามค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ลดลง

การเปิดประเทศจีนหนุนอุปสงค์ต่อน้ำมันดิบโดยรวมตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 และมีแนวโน้มที่จะต่อเนื่องไปในไตรมาส 2 ปี 2566 นอกจากนี้อุปทานจากประเทศรัสเซียคาดจะลดลงอีก

ดังนั้น อุปทานน้ำมันส่วนเพิ่มมีแนวโน้มจะจำกัดในไตรมาส 2 ปี 2566 อิงจากแนวโน้มดังกล่าวราคาน้ำมันดิบคาดจะปรับตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน ในไตรมาส 2 ปี 2566 คาดกำไรหลักจะยังคงแข็งแกร่ง

โบรกเกอร์รายนี้ประเมินไป 3 เดือนข้างหน้า คาดว่ากำไรหลักของ PTTEP ในไตรมาส 2 ปี 2566 จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นน่าจะกลบผลกระทบจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงและต้นทุนต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน กำไรหลักคาดว่าจะอ่อนตัวลง กดดันจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง

คาดปริมาณขายจะอยู่ที่ 4.7 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน (การรับรู้ยอดขายที่มากขึ้นจากโครงการ Block-H, HBR และ Arthit รวมถึง G1 และ G2) ราคาขายปิโตรเลียมเฉลี่ยคาดว่าจะลดลง ทั้งจากปีก่อนและไตรมาสก่อน ต้นทุนต่อหน่วยคาดว่าจะลดลงจากงวดปีก่อน มาอยู่ที่ 28 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าภาคหลวงที่ลดลง) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน (ค่าเสื่อมราคาที่สูงขึ้น)

ความคาดหวังต่อการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบและกำไรหลักที่แข็งแกร่งในไตรมาส 2 ปี 2566 น่าจะหนุนราคาหุ้นไปต่อ มูลค่าในปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดย P/BV ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 1.2 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

หากอิงจากฐานนี้ถือว่าราคาหุ้นยังมีอัพไซด์อีกมาก และล่าสุด PTTEP ได้ปิดบริษัทย่อยที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจแล้ว คือ บริษัท PTTEP Australia Pty Ltd (PTTEP AU) และบริษัท PTTEP Australia Offshore Pty Ltd (PTTEP AO) เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อบริษัท

หากมองโดยภาพรวม จึงถือว่าการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส เป็น Sentiment เชิงบวกต่อ PTTEP นั่นเอง

Back to top button