ตลาด IPO คึกคัก ธุรกิจแห่ยื่นไฟลิ่งเพียบ

ตลาดหุ้นไทยในปีนี้ผ่านไปเกือบ 4 เดือน มีหุ้นน้องใหม่ที่ออกและเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) รวมแล้วถึง 12 บริษัท


เส้นทางนักลงทุน

ตลาดหุ้นไทยในปีนี้ผ่านไปเกือบ 4 เดือน มีหุ้นน้องใหม่ที่ออกและเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (Initial Public Offering : IPO) ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมแล้วถึง 12 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนรวม 8.57 พันล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม หรือมาร์เก็ตแคป (market cap) ณ ราคาไอพีโอ 4.35 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ ในช่วงที่เหลือของปี 2566 นี้ ตลาด IPO น่าจะทวีความคึกคักมากขึ้น เพราะมีทั้งบริษัทขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ แห่ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นทิวแถว

เฉพาะบริษัทที่สำนักงานก.ล.ต.ได้อนุญาตแบบคำขอให้ออกและเสนอขายหุ้น IPO ได้แล้ว (approved) ที่จ่อจะเข้าเทรดในทั้ง 2 ตลาดภายในปีนี้ ก็มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 บริษัทแล้ว ขณะที่บริษัทที่อยู่ระหว่างการยื่นแบบไฟลิ่งต่อก.ล.ต. ก็ยังมีอีก 40-45 บริษัท

ทั้งปี 2566 นี้ ผู้บริหาร SET คาดว่ามูลค่ามาร์เก็ตแคปของหุ้นใหม่น่าจะทะลุ 5.07 แสนล้านบาท จากปี 2565 ที่ผ่านมา มีหุ้น IPO เข้าจดทะเบียนในทั้ง 2 ตลาดรวมกัน 42 บริษัท คิดเป็นมูลค่าเสนอขายถึง 1.28 แสนล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของตลาดหุ้นไทยที่สามารถตอบสนองความต้องการระดมทุนได้เป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน

สำหรับความคึกคักของตลาด IPO ในปีนี้ หลัก ๆ เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ก.ล.ต.ได้ประกาศปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการรับหลักทรัพย์ใหม่สำหรับบริษัทที่จะเสนอขายหุ้น IPO จากเดิมกำหนดให้บริษัทต้องยื่นทำงบการเงินย้อนหลังในรูปแบบกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities : PAEs) เพียง 1 ปี เฉพาะปีล่าสุด

เป็นให้เพิ่มงบการเงินเป็น 3 ปีย้อนหลังล่าสุด ที่ต้องทำงบแบบ PAEs ตามมาตรฐานสากลรายงานทางการเงิน (IFRS) ซึ่งจะเริ่มบังคับตั้งแต่ปี 2567 ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการรับหลักทรัพย์ใหม่ดังกล่าวเพื่อยกระดับมาตรฐานบจ. โดยเฉพาะในด้านมาตรฐานบัญชีให้เข้ามาตรฐานสากล

ส่วนปัจจัยที่ 2 เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ให้บทเรียนและสอนให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการปรับตัว เห็นถึงความจำเป็นในการมีเงินทุนเตรียมพร้อมไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ หันมาตุนเงินทุนจาก IPO รับเศรษฐกิจผันผวนทั้งโลก ซึ่งมีสาเหตุจากทั้งสถานการณ์สงคราม, ราคาน้ำมันมีความผันผวน, อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

และ 3.บริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยเฉพาะบจ.ขนาดใหญ่หลายแห่ง ต้องการปรับโครงสร้าง ด้วยการเตรียมนำบริษัทในกลุ่มหรือบริษัทย่อยมาระดมทุนขาย IPO หรือสปินออฟ (spin-off) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นกันมากขึ้น

มีแนวโน้มว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 เป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี น่าจะเห็นการทยอยขายหุ้น IPO กันมากขึ้น โดยในมุมมองของผู้บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ผู้ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านการเงิน ฟันธงว่ากฎเกณฑ์ใหม่ของก.ล.ต.เป็นปัจจัยสนับสนุนให้บริษัทจำนวนมากเร่งกระบวนการขายหุ้น IPO เพราะจะทำให้ผู้ระดมทุนมีต้นทุนในการรายงานข้อมูลงบการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม

ในส่วนของ APM นั้น เฉพาะงานที่ปรึกษาด้านการ IPO ของบริษัทในปี 2566 จะมีลูกค้ายื่นไฟลิ่งไม่น้อยกว่า 10 บริษัท เพิ่มจากภาวะปกติที่มีเพียง 4-5 บริษัทต่อปี

สอดคล้องกับ “สมภพ กีระสุนทรพงษ์” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส ที่ระบุว่าตลาด IPO ช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงสดใส มีบริษัทจำนวนมากที่ต้องการระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพื่อให้ทันกับกฎเกณฑ์เดิมในการรับหลักทรัพย์ของก.ล.ต. ก่อนที่เกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม มองว่าในปี 2567 ตลาด IPO ก็จะยังคงมีความคึกคักต่อเนื่องจากปีนี้ เพราะคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปี 2566 จะมีบริษัทยื่นไฟลิ่งต่อก.ล.ต.อีกจำนวนมาก โดยหลายบริษัทอาจจะระดมทุนขายหุ้นใหม่และเข้าจดทะเบียนไม่ทันภายในปีนี้ ทำให้บริษัทที่ได้รับอนุมัติขายหุ้น IPO คั่งค้างไปในปีหน้าด้วย

สำหรับกิจการที่เตรียมจะขายหุ้น IPO โดยคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติอย่างเป็นทางการแล้ว และคาดว่าจะมีการระดมทุนขนาดใหญ่ เช่น บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ซึ่งอยู่ในกลุ่มบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) ในเครือบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)

นอกจากนี้ ยังมี บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) ซึ่งคณะกรรมการได้อนุมัติแผนปรับโครงสร้าง โอนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมให้บริษัท อมตะ สแทรทจิก โฮลดิ้ง 1 จำกัด (Spin Co.) เป็นบริษัทแกนนำของกลุ่มบริษัท (Flagship Company) ในการดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศแทนบริษัท (ยกเว้นในประเทศเวียดนาม) จะไม่ประกอบธุรกิจลงทุนและพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นขอบเขตการดำเนินธุรกิจของ AMATA และหลังธุรกรรมการปรับโครงสร้างแล้วเสร็จ Spin Co. จะดำเนินการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

ขณะที่ บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) มีแผนส่งบริษัท ฟอร์ท เบฟเวอเรจ จำกัด ผู้ให้บริการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ “เต่าบิน” เข้าตลาดหุ้นภายในไตรมาส 4 ปีนี้

ส่วนบมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ของ “นพ.บุญ วนาสิน” ก็ได้แต่งตั้ง บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เตรียมความพร้อมนำบริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด เข้าตลาดหุ้น โดยคาดว่าจะ IPO ภายในปี 2567 รวมถึง บมจ.ทีคิวเอ็ม อัลฟา (TQM) โบรกเกอร์ประกันภัยรายใหญ่ มีแผนนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนปีละ 1 บริษัท ในช่วง 3 ปี คือระหว่างปี 2566-2568

เช่นเดียวกับ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่มีแผนนำบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นภายในปี 2567 ตลอดจนบมจ.เจ มาร์ท (JMART) ภายหลังเข้าถือหุ้นในบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ “สุกี้ตี๋น้อย” แล้วก็มีแผนจะผลักดันเข้าตลาดหุ้นปี 2567 เช่นกัน

จากจำนวนบริษัทที่ได้รับอนุมัติแล้วจ่อคิวรอเทรดทั้งใน SET และ mai และบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งแล้วจ่อคิวรออนุมัติ เชื่อว่าตลาด IPO ในช่วงที่เหลือจากนี้ไปจะคึกคัก สดใส อย่างแน่นอน

Back to top button