จุดอ่อน และจุดแข็งพลวัต2015

แม้ตลาดหุ้นเป็นตลาดที่ไม่สามารถจะเอาวิธีการของนักการตลาดในแง่การวิเคราะห์ที่เรียกว่า SWOT มาใช้ได้ แต่ปรากฏการณ์ 2 อย่างไล่เลี่ยกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สะท้อนว่า แรงเหวี่ยงของตลาดหุ้นจากนี้ไปจนถึงอีก 2 เดือนข้างหน้าจะเกิดขึ้นจากการต่อสู้ของ 2 แรงสำคัญที่ครอบงำเหนือตลาด นั่นคือ จุดแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐ และจุดอ่อนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก


แม้ตลาดหุ้นเป็นตลาดที่ไม่สามารถจะเอาวิธีการของนักการตลาดในแง่การวิเคราะห์ที่เรียกว่า SWOT มาใช้ได้ แต่ปรากฏการณ์ 2 อย่างไล่เลี่ยกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สะท้อนว่า แรงเหวี่ยงของตลาดหุ้นจากนี้ไปจนถึงอีก 2 เดือนข้างหน้าจะเกิดขึ้นจากการต่อสู้ของ 2 แรงสำคัญที่ครอบงำเหนือตลาด นั่นคือ จุดแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐ และจุดอ่อนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

พูดง่ายๆ คือ จุดแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐที่เป็นขาขึ้นเต็มตัวชัดเจน สลัดทิ้งบาดแผลวิกฤตซับไพรม์หมดจด จะทำให้เฟดต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งเป็นระยะๆ ตามความจำเป็นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าดอลลาร์และกระแสฟันด์โฟลว์ของตลาดเก็งกำไรทั่วโลก

หากนักลงทุนเชื่อสถิติเก่าๆ ว่าในยามที่เศรษฐกิจสหรัฐเป็นขาขึ้นเต็มตัว เมื่อใดที่เกิดตลาดพังเพราะแรงเทขายหนัก จนถึงขึ้นดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ร่วงหนักทันทีมากกว่า 5% ในสัปดาห์เดียว ในรอบ 35 ปีที่ผ่านมา จะเกิดภาวะที่ดัชนีทั้งสองฟื้นตัวกลับมา 1.65% ภายใน 4 สัปดาห์และจะกลับมามากกว่า 5% ภายใน 12 สัปดาห์เสมอมากถึง 28 ครั้ง

ข้อมูลดังกล่าวน่าจะช่วยให้คนที่เป็น “ชาวดอย” ในตลาดไทยและเกิดใหม่ทั่วโลกพากัน ใจชื้นขึ้นได้บ้างว่า โลกไม่ได้เลวร้ายด้านเดียว โดยเฉพาะเมื่อมีเงื่อนกำกับสำคัญคือพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทางเลวร้ายลงอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนจุดอ่อนเรื่องราคาน้ำมัน จะทำให้ราคาหุ้นพลังงานย่ำแย่ไปอีกนานพอสมควร และฉุดรั้งขาขึ้นของเศรษฐกิจกับตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ การร่วงลงสู่จุดต่ำสุดรอบหลายปีของน้ำมันดิบโลก ไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติแต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์กระทำ

ครั้งนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญให้ราคาน้ำมันดิ่งเหวในรอบปีเศษ คือ สหรัฐที่พบวิธีขุดน้ำมันแบบใหม่จำนวนมหาศาล ตามมาด้วยชาติสมาชิกโอเปก ที่ตัดสินใจใช้กลยุทธ์รักษาส่วนแบ่งการตลาดผ่านการทำสงครามราคาอย่างเป็นทางการ

18 เดือนมาแล้วที่ชาติโอเปก นำโดยซาอุดีอาระเบียพากันขุดน้ำมันออกมาขายอย่างหนักจนเกินจำนวนเป้าหมายโควตาของกลุ่มวันละ 31.5 ล้านบาร์เรล เป็นเจตนาผลิตน้ำมันล้นโลก การตัดสินใจดังกล่าวได้ผลระยะหนึ่ง เพราะช่วยให้ชาติสมาชิกโอเปก 12 ประเทศ ซึ่งผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกถึง 1 ใน 3 รักษาส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันเอาไว้ได้ แต่เป้าหมายสำคัญที่หวังว่าโอเปกจะเป็นผู้ควบคุมราคาน้ำมันโลกเหมือนเดิม กลับล้มเหลวสิ้นเชิง 

การประชุมเมื่อวันศุกร์ของกลุ่มโอเปก ที่ไม่ได้มีข้อสรุปการประชุมอะไรใหม่เลยทำให้นักวิเคราะห์วงการน้ำมันดิบโลก ระบุว่า “โอเปกตายไปแล้ว” มีคนเห็นด้วยมากมาย เพราะอคติและทิฐิของผู้นำชาติโอเปกยามนี้ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์อะไรเลย แต่กำลังนำโอเปกไปสู่ทางตันที่ไม่มีโอกาสชนะเลย

ราคาน้ำมันที่จะทรงตัวในราคาต่ำไปอีกนานหลายเดือนจากนี้ไป ไม่สามารถให้คำตอบที่ดีกับตลาดหุ้นทั่วโลกได้ แต่ปัจจัยเรื่องจุดแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐต่างหากที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าทางบวกหรือลบ

ข้อเท็จจริงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น 2.1 แสนตำแหน่ง  รวมทั้งค่าจ้างเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจสหรัฐแกร่งมากพอรับการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ S&P500 และแนสแด็ก ทะยานบวกแรง โดยเฉพาะ S&P500 นั้นเหลือแค่ 36 จุดก็จะทำนิวไฮอีกครั้ง

การทะยานขึ้นแรงของหุ้น ตอกย้ำว่าในทางจิตวิทยาแล้ว นักลงทุนในสหรัฐไม่ได้หวาดวิตกกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีก อยากให้ขึ้นมากกว่าไม่ให้ขึ้น เพราะตราบใดที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนย่อมจะเป็นขาขึ้นไปด้วย เอาชนะความวิตกเรื่องของต้นทุนการเงินซึ่งไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายแต่อย่างใด            

จากการประเมินของวาณิชธนกิจอันดับหนึ่งของสหรัฐ โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า หลังจากขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ 0.25% แล้ว ปีหน้าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ตลอดทั้งปี รวมแล้วจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.25 % จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเฟดที่ปัจจุบันระดับ 0.15% ยังคงต่ำกว่า 2% ในปลายปีหน้า

นอกจากนั้น หากสถิติไม่ใช่มายาภาพ จะพบว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 เป็นต้นมา เฟดได้ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 12 ช่วงเวลา แต่ละช่วงจะกินเวลานานประมาณ 1-2 ปี (7 ครั้งที่กินเวลาไม่เกิน 1 ปี ส่วนอีก 5 ครั้งกินเวลา 2 ปี) ซึ่งหมายความว่าช่วงเวลาของการขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะทำกันต่อเนื่อง ขึ้นกับความรุนแรงของเงินเฟ้อ

ผลเชิงลบที่ชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยเฟด อยู่ที่ต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจจะสูงขึ้น ถ่วงความร้อนแรงของตลาดแรงงานและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลงอย่างมีนัยสำคัญ จนบางครั้งอาจนำไปสู่ช่วงเศรษฐกิจขาลงได้

ผลข้างเคียงที่นักลงทุนชื่นชอบอยู่ที่ว่า ทุกช่วงเวลาการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมีสถิติยืนยันชัดว่า 9 ใน 12 ช่วงเวลา ราคาหุ้นและดัชนีตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นยาวนานต่อเนื่อง เหตุผลก็เนื่องมาจากเศรษฐกิจในช่วงที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยนั้น เป็นช่วงขาขึ้นพอดี ทำให้การเพิ่มดอกเบี้ย แม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการเงินก็จริง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อการออมและผลประกอบการของบริษัท

ตามสถิติอีกเช่นกัน ตลาดตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ของสหรัฐจะรับอานิสงส์โดยตรงเต็มที่ถึงขั้นเป็นตลาดที่บูมต่อเนื่องภายใน 1 ปีนับจากการขึ้นดอกเบี้ยแต่ละครั้ง (ยกเว้นเพียงครั้งเดียวด้วยสาเหตุพิเศษ)

หลายปีมานี้ ยังมีเหตุผลพิเศษเพิ่มเติมที่เฟดและตลาดเงินสหรัฐถือว่า การที่ค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริงเป็นความเสียหายและเป็นการ “เสียของ” ที่มีนัยสำคัญ เพราะค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจและชาติต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน อาศัยประโยชน์จากค่าดอลลาร์ต่ำ และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ไปหากำไรผ่านแคร์รี่ เทรด และลดต้นทุนการเงินต่อเนื่อง ในขณะที่บริษัทข้ามชาติอเมริกันทำไม่ได้ และเสียโอกาส

การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะทำให้ชาติที่เคยชินกับโอกาสในการกู้ยืมเงินดอลลาร์ต้นทุนต่ำ จำต้องเผชิญกับ “ภาระ” ของต้นทุนกู้เงินดอลลาร์ที่แพงขึ้นจนไม่คุ้มอีกต่อไป จะผลักดันให้ธุรกิจและธนาคารกลางชาติเหล่านั้น ต้องเปลี่ยนจากการถือเงินสกุลดอลลาร์ มาเป็นการถือหุ้นกู้สกุลดอลลาร์แทน

หากพิจารณาผลบวกจากการที่ค่าดอลลาร์ต่ำ ช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐดีขึ้น แต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า เทียบกับความได้เปรียบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ของธุรกิจสหรัฐในภาคบริการทางการเงินที่มีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดหุ้นกู้ดีใจกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากกว่า

ผลลัพธ์ทางบวกของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต่อเศรษฐกิจสหรัฐนั้นไม่เป็นที่น่าสงสัย แต่ผลสะเทือนทางบวกต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่นั้น ยังเป็นปริศนาเสมอ เพราะนักวิเคราะห์ในตลาดเกิดใหม่จะเชื่อในสูตรสำเร็จเดิมที่ว่าเมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และค่าดอลลาร์แข็งเมื่อใด กระแสฟันด์โฟลว์ไหลออกของทุนต่างชาติจะตามมารุนแรง

กรณีของตลาดไทยก็มีคำอธิบายเช่นนี้ ทั้งที่ว่าไปแล้วฟันด์โฟลว์ไหลออกไปแล้วจนเกือบเหี้ยนในรอบ 3 ปีนี้ประมาณ 4 แสนล้านได้เกิดขึ้นไปแล้ว โดยที่เฟดยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเลยแม้แต่ครั้งเดียว

อีกไม่นานก็คงรู้ว่าความเชื่อของนักวิเคราะห์ดังกล่าวจะถูกหรือผิด

ถ้าผิด ก็เป็นเรื่องสมควรเกิดขึ้น

Back to top button