ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้พลวัต2015

มติที่ประชุมโอเปกที่ออกมาว่า ให้สมาชิกผลิตน้ำมันโดยเสรี ไม่ต้องมีโควต้าอีกต่อไป นอกจากมีผลต่อราคาน้ำมันเป็นขาลงรุนแรงในรอบ6 ปียามนี้แล้ว ยังมีผลสะเทือนอย่างยิ่งต่อรากฐานปรัชญาของการก่อตั้งและโอเปกโดยตรง


มติที่ประชุมโอเปกที่ออกมาว่า ให้สมาชิกผลิตน้ำมันโดยเสรี ไม่ต้องมีโควต้าอีกต่อไป นอกจากมีผลต่อราคาน้ำมันเป็นขาลงรุนแรงในรอบ6 ปียามนี้แล้ว ยังมีผลสะเทือนอย่างยิ่งต่อรากฐานปรัชญาของการก่อตั้งและโอเปกโดยตรง 

ไม่แปลกเลยที่จะมีคนบอกว่านี่คือการตอกตะปูปิดฝาโลงอย่างเป็นทางการของโอเปก

เหตุก็เพราะ โอเปกตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเป็นคาร์เทล เพื่อควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลก ในฐานะตลาดผูกขาดน้อยรายที่อำนาจเป็นของผู้ขาย ไม่ใช่ตลาดผู้ซื้อ 

โอเปกที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำ ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1960 และจัดรูปร่างกับเป้าหมายกันระยะหนึ่ง โดยมีสหรัฐฯเป็นพี่เลี้ยง เป้าหมายสำคัญคือล้มล้างอิทธิพลของยักษ์ข้ามชาติน้ำมันระดับโลกตะวันตก 7 รายที่เรียกว่า 7 ศรีพี่น้อง (the 7 Sisters)  โดยหลังก่อตั้งไม่นานโอเปกแอบตกลงลับกับสหรัฐฯว่า จะใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลซื้อขายน้ำมันโลก

ความสำเร็จครั้งแรกของโอเปกในการล้างอิทธิพลของ 7 ศรีพี่น้องคือ ปี ค.ศ.1973 ที่รวมหัวกันขึ้นราคาน้ำมันดิบกว่าเท่าตัว ทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันครั้งแรกของโลกขึ้นมา 

หลังจากนั้น อิทธิพลของโอเปกก็เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ความมั่งคั่งของชาติโอเปก เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกหลายด้าน ที่สำคัญสุดการเถลิงอำนาจของเงินที่เรียกว่า เปโตรดอลลาร์ 

เงินเปโตรดอลลาร์ คือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) ที่เคลื่อนย้ายจากกำไรสะสมของชาติส่งออกน้ำมันขนาดใหญ่ที่ออกไปลงทุนในตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดสินค้าหรือบริการทั่วโลกเพื่อหลบหนีภาวะเงินเฟ้อในประเทศของตนเองแต่กองทุนดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับสมาชิกโอเปกทุกประเทศ เพราะเหตุว่า ความมั่งคั่งของแต่ละประเทศนั้น ขึ้นกับความสามารถในการบริหารทุนที่ได้มาจากการขายน้ำมันอย่างแนบแน่น

ชาติโอเปกที่ไม่ต้องยุ่งยากกับการสร้างสาธารณูปโภคในประเทศ สร้างSWF ในรูปเปโตรดอลลาร์ที่ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนสั่นสะเทือน กลายเป็นชาติโอเปกที่ร่ำรวย อย่างเช่นซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ดูไบ หรือ อิหร่าน แต่ชาติโอเปกที่ต้องแบกรับภาระอื่นและจมปลักกับการบริหารล้มเหลวก็ยังคงเป็นชาติที่ยากจนต่อไป เช่น ไนจีเรีย อินโดนีเซีย เวเนซุเอลา หรือลิเบีย

ความล้มเหลวของชาติโอเปกกลุ่มหลังนี้เป็นไปตามสูตรที่เรียกว่า “คำสาปของทรัพยากร” หรือ Dutch disease ที่มีคำอธิบายว่า ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นกะทันหันของชาติหนึ่ง จากทรัพยากรในประเทศมากเกินขนาด ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศ และค่าเงินท้องถิ่นที่แข็งเกินขนาดจนกระทั่งล้มเหลวในการแข่งขันผลิตสินค้าอื่นๆ ทั่วไป แล้วก็ตกในกับดักของความยากจนเช่นเดิม

กรณีของไนจีเรีย และเวเนซุเอลาเป็นต้นแบบความล้มเหลวที่ชัดเจน

งบประมาณของรัฐบาลไนจีเรีย 93% ในแต่ละปี มาจากรายได้สัมปทานจากการขายน้ำมันส่งออก แต่รายได้จากส่วนอื่นที่ต่ำมาก เกิดจากคนยากจนทั่วประเทศไม่มีปัญญาชำระภาษีแก่รัฐ ผสมกับการคอร์รัปชั่น และความล้มเหลวของรัฐที่มีการรัฐประหารบ่อยครั้ง ทำให้ยังคงยากจนติดอันดับของโลกไม่เคยเปลี่ยนแปลง

เวเนซุเอลาก็เช่นกัน ฮูโก้ ชาเวซ ใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือสร้างฐานอำนาจทางการเมืองด้วยนโยบายประชานิยมล้างผลาญ จนฐานะทางการคลังเข้าขั้นล้มละลาย และมีเงินเฟ้อสูงสุดในโลกยากต่อการควบคุม โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันเป็นขาลง

ความเหลื่อมล้ำของชาติสมาชิกโอเปก ทำให้เอกภาพทางนโยบายของโอเปกที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นพี่เบิ้มทุบโต๊ะดำรงอยู่ได้อย่างง่อนแง่นและเป็นโดยนิตินัยเท่านั้น แต่โดยพฤตินัย มีการกระทำนอกรีตโอเปกเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันเกินโควต้าที่กำหนด จนเป็นปกติธรรมดา แม้กระทั่งซาอุดิอาระเบียก็ยังกระทำด้วย

ที่น่าสนใจคือบนเส้นทางยิ่งใหญ่ของโอเปก ไม่เคยมีความพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกของคาร์เทลเพื่อเพิ่มอำนาจของโอเปกเหนือโลกเลยสมาชิกมีเท่าไรก็เท่าเดิม เข้าออกไม่เกิน1-2 ประเทศที่ล้วนไม่มีความสำคัญต่อการผลิตในโลก

ยิ่งกว่านั้น หลังวิกฤตราคาน้ำมันโลกรอบล่าสุด ค.ศ. 2003-2013 ที่กินเวลายาวนานมากถึง 10 ปี จนแทบไม่มีใครเชื่อว่าราคาน้ำมันที่ถูก จะย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกเป็นวงจรเดิม ทำให้การสำรวจขุดเจาะมีพัฒนาการเข้มข้นทั้งปริมาณและคุณภาพทั่วโลก 

ชาตินอกโอเปกหลายชาติ เริ่มทำการขุดเจาะน้ำมันออกมาแย่งส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันดิบมากขึ้น ดังเช่น นอร์เวย์ รัสเซีย ชาติในเอเชียกลาง รวมทั้งล่าสุดคือสหรัฐฯ ที่พบเทคโนโลยีใหม่ขุดเจาะน้ำมันจนกลายเป็นชาติผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว

น้ำมันและแก๊สจากชาตินอกโอเปกที่ผลิตออกมาด้วยเหตุผลต่างๆ กัน โดยเฉพาะผ่านบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศต่างๆ ทำให้สัดส่วนทางการตลาดของโอเปกลดลง จากระดับที่เคยมีมากถึง45% ของโลก ลดลงมาเหลือแค่ 35% เท่านั้น

ในขณะที่พลังงานทดแทนที่สะอาดกว่า ซึ่งเคยมีราคาแพง เริ่มมีต้นทุนถูกลงโดยเปรียบเทียบ จากการที่รัฐบาลหลายชาติหันมาทุ่มสนับสนุน ด้วยการจ่ายชดเชยให้กับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ทดแทนน้ำมันมากขึ้น ก็ส่งผลทางอ้อมให้ปริมาณน้ำมันถูกแบ่งความต้องการใช้ออกไป แม้จะไม่มากนัก แต่ก็มีนัยสำคัญ

ผู้บริหารโอเปก มีทางเลือกสำคัญในสภาวะเช่นนี้คือ ยอมรับการถูกเบียดขับให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของตนลดลงไปเรื่อยในอัตราเร่ง โดยการคงราคาน้ำมันเอาไว้ผ่านการควบคุมแบบคาร์เทลรูปแบบเดิม หรือ รักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ที่เดิม โดยยอมให้ราคาน้ำมันร่วงลงถึงระดับที่คู่แข่งเข้าสู่ภาวะขาดทุนจากต้นทุนที่สูงกว่าจนไม่สามารถต่อสู้ได้

 มติโอเปกเมื่อกลางปีนี้ เลือกทางเลือกหลังสุด และดูจะได้ผลบ้าง เมื่อการผลิตของสหรัฐฯและแคนาดาลดลงเห็นได้ชัดแต่ก็ได้ผลไม่มากนัก เพราะชาติโอเปกเองกลับเร่งการผลิตมากขึ้นจนราคาร่วงลงไปอีก ที่สำคัญชาติโอเปกที่ไม่ร่ำรวยเริ่มมีปัญหาการคลังรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนเข้าข่ายชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำให้มีแรงผลักดันให้นำแนวทางเดิมของคาร์เทลกลับมาใหม่ ซึ่งได้รับการยืนยันอีกครั้งในการประชุมล่าสุดว่า เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

เส้นทางสู่หายนะของโอเปก ในฐานะคาร์เทล เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากภารกิจที่พวกเขาดำเนินการมากว่า55 ปี ได้แปรสภาพจากภารกิจยิ่งใหญ่ มาเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว แต่เส้นทางราคาน้ำมันดิบโลกจะดิ่งเหวไปสู่ราคาที่ระดับ20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังการคำนวณของนักวิเคราะห์โกลด์แมน แซคส์ เมื่อหลายเดือนก่อนหรือไม่ ยังต้องพิสูจน์กัน

เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญวงการน้ำมันหลายสำนัก ที่ระบุว่า ราคาน้ำมันจะทรงตัวที่ระดับต่ำใต้ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปอีกอย่างน้อยจนถึงปลายปีค.. 2017 

ถึงเวลานั้น อาจจะไม่มีโอเปกแล้วก็ได้ และถึงจะมีก็เหลือแค่ตำนานที่ไร้ค่า

Back to top button