ข่าวดีเมื่อดีลล่มแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

จบไปเสียทีกับแผนโตทางลัดของบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TU ในการทุ่มเงิน 1,510 ล้านดอลลาร์ หรือราว 49,801 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ "เฒ่าทารก"ของบริษัทอาหารBumble Bee Foods LLC ชื่อดังสหรัฐฯ


จบไปเสียทีกับแผนโตทางลัดของบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TU ในการทุ่มเงิน 1,510 ล้านดอลลาร์ หรือราว 49,801 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ เฒ่าทารกของบริษัทอาหารBumble Bee Foods LLC ชื่อดังสหรัฐฯ

เมื่อดีลล่ม แผนการต่างๆ เช่นการเพิ่มทุนขนาดใหญ่ออกมารองรับการก่อหนี้ในระยะเจรจาในรูปเงินกู้ยืมระยะสั้น Bridge Loan จากธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพ ก็ล้มเลิกไปด้วย

งานนี้ คนโล่งอกคือผู้ถือหุ้น TU  จ้ะ…. คนเสียหายไม่ต้องบอกก็คงรู้คือ ว่าที่เจ้าหนี้น่ะเอง ชวดค่าต๋งและดอกเบี้ยจะวาดหวังเหนาะๆ ตามระเบียบ

คนที่ฟาดงวงฟาดงาขายหุ้นทิ้งระบายอารมณ์ เมื่อมีข่าวดีลล่ม… คงไม่ต้องคาดเดาว่าเป็นค่ายไหน… หลับตาก็พอรู้ๆ กันอยู่…. อิ อิ อิ

ข้อเท็จจริงก็คือ บริษัทที่ไม่ได้ทำกำไรมายาวนานหลายทศวรรษอย่าง Bumble Bee นั้น (แม้จะมีชื่อเสียงติดปากคนอเมริกัน) มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ขาดทุนมากกว่ากำไร ซื้อมาไม่น่าคุ้ม

ไม่คุ้มอย่างไร… ดูประวัติดีกว่า ในปี ค.ศ. 1985 บริษัทนี้เจ๊งหนัก ถูกเจ้าของเดิมชื่อ Castle & Cooke ขายให้กับผู้บริหารทำต่อ แต่อยู่ได้ 3 ปีไปไม่รอด ต้องขายต่อให้กับคู่แข่งชื่อ Pillsbury แล้วภายในปีเดียวก็ถูกขายทอดตลาดให้กับบริษัทไทยยูนิคอร์ด ที่มี ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ ฝันสร้างตำนานใหม่ข้ามประเทศ ด้วยมูลค่า 269 ล้านดอลลาร์ (6,700 ล้านบาทในขณะนั้น) 

ดำริห์ ดันทุรังฟื้นกิจการได้หลายปี ก็ไปไม่รอดอีก เพราะดีลยักษ์กู้หนี้เกินตัว ทำเอายูนิคอร์ดถูกดอกเบี้ยกินตัวสาหัส ขาดทุนต่อเนื่อง จนดำริห์รับความกดดันจากภาระทับถมไม่ไหว ฆ่าตัวตายทิ้งซากตำนานเอาไว้ แล้วบริษัทนี้ก็เปลี่ยนมือไปหาเจ้าของใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ในเกมซื้อขายกิจการอันเละตุ้มเป๊ะ

เจ้าของใหม่ถัดจากยูนิคอร์ด  International Home Foods ซื้อไปทำต่อได้แค่3 ปีก็ทนไม่ไหวอรก ขายให้ ConAgra Foods ซึ่งเจ้าของใหม่เกิดคิดแหวกแนวมั่ง ตัดแบ่งขายกิจการส่วนปลากระป๋องออกมา ขายให้นักล่าซื้อกิจการในรูปกองทุนเอกชนชื่อ Centre Partners ในอีก3 ปีต่อมา

กองทุนเอกชนซื้อมา ก็เอาไปแต่งหน้าตาแล้วเซ้งต่อหากำไรในปีถัดมา ให้บริษัทแคนาดา Connors Brothers Limited โดยการควบรวมกิจการแบบไม่ใช้เงินสด แต่ไขว้หุ้นกัน แล้วเลิกใช้ชื่อเดิม

ควบรวมกันเสร็จ บริษัทดูท่าใหญ่โตกว่าเดิมกว่าเท่าตัว แต่สินค้ากลับขายไม่ออกในอเมริกา จึงแก้เคล็ดเปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อบริษัทเดิมเป็น Bumble Bee Foods, LLC ในปีถัดมา ทำมาได้5 ปี ขาดทุนเริ่มลดลง เกือบดีขึ้น แต่มาเจอวิกฤตซับไพรม์อีก เจ้าของใหญ่เงินหมด จึงเสนอขายคืนกิจการให้ Centre Partners อีกรอบ 

รอบนี้ Centre Partners ไม่รอช้า ถือหุ้นไว้ 2 ปี ก็ผ่องถ่ายขายต่อให้กับ Lion Capital ของอังกฤษ ที่ถือมาจนถึงปัจจุบันแต่ตัวเลขขาดทุนสะสมเพิ่มรอบใหม่ จึงหาทางโละทิ้งให้คนอื่นที่สนใจรับเซ้งต่อ เข้าทางความใฝ่ฝันของซีอีโอใหญ่ ธีรพงศ์ จันศิริ เข้าพอดี

ปลายปี 2557 ธีรพงศ์ วาดฝันบอกคนไทยและผู้ถือหุ้นสวยหรูว่า การได้ Bumble Bee ถือเป็นการซื้อกิจการที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท (ใช้เงินมากกว่าส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทปัจจุบันกว่า1 เท่าตัว และมากกว่าทุนจดทะเบียนล่าสุด 45 เท่า) และจะสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้บรรลุเป้ายอดขายระดับ 5 พันล้านดอลลาร์ในปี2558 และ 8 พันล้านดอลลาร์ในปี2563 เพียงแต่ต้องผ่านเงื่อนไขประเด็นการผูกขาดทางการค้าจากหน่วยงานในอเมริกาก่อน เพราะดีลนี้เข้าข่ายมีอำนาจครอบงำเหนือตลาด

ความฝันของธีรพงศ์ อาจจะไม่ใช่ความฝันของผู้ถือหุ้นTU เสมอไป เพราะกลยุทธ์การตลาดมุ่งครองส่วนแบ่งเพื่อครอบงำตลาด ที่ถือหลักว่าผู้นำตลาด คือคนกำหนดเกม อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทางการเงินเสมอไป

เหตุผลก็เพราะ อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปของ TU นั้น แม้จะมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง แต่มีอัตรากำไรสุทธิที่ไม่สูงมากนัก เพราะราคาวัตถุดิบคือปลานับวันจะแพงขึ้นเรื่อยๆ จากปริมาณ และจากกฎกติกาสิ่งแวดล้อม เรื่องการจับปลาในทะเลที่เข้มงวดต่อเนื่อง

ที่สำคัญ ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ถ้าธุรกิจนี้เป็นช่วงจังหวะขาขึ้น ผู้นำตลาดอาหารทั้งหลายระดับโลก ทำไมพากันขาดทุนเละเทะ…. กรณี Bumble Bee ที่เละเทะมา 30 ปี นี่ก็ชัดเจน และ Starkist ที่ Del Monte ขายทิ้งถูกๆ แค่ 300 ล้านดอลลาร์ให้ Dongwon Industriesของเกาหลีใต้เมื่อ 7 ปีก่อน แล้วตอนนี้ก็ยังขาดทุนมากกว่ากำไร

การซื้อกิจการเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขับเคลื่อนการเติบโตทางลัดจริง แต่หากโตแล้วกำไรลด…หรือขาดทุน จะโตไปทำไม?… เรื่องนี้ ที่ปรึกษาการเงินเขาไม่พูดทักท้วงให้โง่ เพราะอ้อยอยู่ในปากช้างแล้วนี่หว่า…เอิ๊ก!!

จะว่าไปแล้ว ธีรพงศ์ก็คงรู้ดีมาหลายเดือนว่าโอกาสที่ดีลนี้ล่มเป็นไปได้ เพราะในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา TU ก็ทำท่าถอดใจมาแล้ว เมื่อประกาศยกเลิกการเพิ่มทุน 1.27 หมื่นล้านบาท ด้วยการออกหุ้นใหม่จำนวน 795.30 ล้านหุ้น (75%ของทุนจดทะเบียนชำระเดิม) ขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตราส่วน 6 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคา 16 บาทต่อหุ้น (ขายแพงลิ่วเกินจริงทีเดียวหากคิดจากสัดส่วนที่ขายและprice dilution) แต่ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลชัดเจน

เพิ่งมาถึงบางอ้อล่าสุดนี่เอง….อ้ายเสือสั่งถอย

ราคาหุ้นที่ร่วงลงเพราะข่าวดีลล่ม มีเสียงเชียร์ให้ซื้อกันขรมทีเดียว….ไม่แปลก เพราะดีลล่ม ทำให้อนาคตที่ฝากไว้กับความฝัน จะได้มลายไป กลับมาสู่ข้อเท็จจริงที่ว่า ถึงไม่มียอดขาย Bumble Bee ปีละ1 พันล้านดอลลาร์มาช่วย ยอดขายปกติก็โตปีละตั้ง 13% อยู่แล้ว…. จะเอาอะไรอีก

ที่สำคัญ…. ผู้ถือหุ้น TU จะไม่ต้องผวาจะเจอฝันร้ายแบบเดียวกับกรณียูนิคอร์ด (…และ SSI ล่าสุด…) ซ้ำอีก

ส่วนความฝันของธีรพงศ์ ที่สลายไป…ก็คงหาฝันใหม่มาทดแทนไม่ยาก ถ้าอยากฝัน

อาจจะดีกว่าฝันเดิมก็ได้…ใครจะรู้

ส่วนราคาหุ้นที่ยังต่องแต่ง เพราะหลุดแนวรับยามนี้… ก็ชั่งหัวมัน มีลงได้ ก็ขึ้นได้

Back to top button