ส่องนโยบายจีน..เห็นโอกาสหุ้นไทย

จุดโฟกัสที่บรรดานักลงทุนทั่วโลกเฝ้าติดตามและให้ความสนใจวานนี้ (27 มิ.ย.) ตกอยู่ที่งานประชุม World Economic Forum (WEF)


จุดโฟกัสที่บรรดานักลงทุนทั่วโลกเฝ้าติดตามและให้ความสนใจวานนี้ (27 มิ.ย.) ตกอยู่ที่งานประชุม World Economic Forum (WEF) จัดขึ้นที่เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะการกล่าวปาฐกถาของ “หลี่ เฉียง” นายกรัฐมนตรีจีนกับการส่งสัญญาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน

สาระสำคัญของถ้อยปาฐกถาของนายหลี่ เฉียง นั่นก็คือ..

1) เศรษฐกิจจีนช่วงไตรมาส 2/66 มีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งกว่าไตรมาส 1/66 ที่ตัวเลข GDP เติบโต 4.5% พร้อมคาดว่าทั้งปีมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ตามเป้า 5%

2) สภาวะการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมจีน หลังรับผลกระทบจากดีมานด์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ ส่งผลให้รัฐบาลจีน วางแผนออกนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศและเปิดตลาดให้กว้างขึ้น เพื่อให้จีน คงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

3) การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจไม่ใช่วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขครั้งสุดท้ายที่โลกต้องเผชิญ และแนวโน้มโลกาภิวัตน์ (Globalization) ยังไม่เปลี่ยนแปลงแม้ลดลงบ้างโดยย้ำว่าเป้าหมายหลักยังมุ่งเน้นไปที่การเปิดกว้างทางธุรกิจและการต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ

4) สนับสนุนให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ เชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ต่อการเจรจาและการสื่อสาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คาดเคลื่อนได้

ถ้อยปาฐกถาของ “นายหลี่” ดูสวนทางสถาบันทางการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่ง ที่ปรับลดประมาณการการเติบโตของจีน ไม่ว่าจะเป็นโกลแมน แซคส์, เจพี มอร์แกน, ยูบีเอส และ Bank of America

แต่ในทางกลับกันสถาบันการเงินชั้นนำอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เพิ่มคาดการณ์ GDP จาก 4.4% สู่ระดับ 5.2% และธนาคารโลก (World Bank) ปรับขึ้นคาดการณ์การเติบโตจาก 4.3% สู่ระดับ 5.6%

จากการส่งสัญญาณจาก “นายหลี่ เฉียง” ครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสที่รัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นดีมานด์เพิ่มเติม หลังมีการใช้นโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงล่าสุดการกระตุ้นตลาดยานยนต์ EV ผ่านการสนับสนุนทางภาษีมูลค่ากว่า 520,000 ล้านหยวน (หรือประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท)

นั่นทำให้มุมมองของนักลงทุนตลาดหุ้นไทย โฟกัสไปที่กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ดูเหมือนจะมี 3 กลุ่มหลัก..นั่นคือกลุ่ม “ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์” โดยเฉพาะบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA และบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE

ส่วนอีกกลุ่มคือ “ปิโตรเคมี” อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL และ “กลุ่มบรรจุภัณฑ์” นั่นคือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ที่เป็นโอกาสสำหรับ “การเก็งกำไร” ช่วงตลาดผันผวนแบบนี้ได้ดีเลยทีเดียว..!!

Back to top button