STARK ‘ชนินทร์’ ไซฟ่อน.!?

มีข้อมูลเล็ดลอดจากบัญชีสืบสวนว่าด้วยคดีฉาว STARK พบหลักฐานหลายชิ้นบ่งชี้ได้ว่า นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานบอร์ด STARK เข้าข่ายฉ้อโกงเงิน


มีข้อมูลเล็ดลอดจากบัญชีสืบสวน (forensic accounting) ว่าด้วยคดีฉาว บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK พบหลักฐานหลายชิ้นบ่งชี้ได้ว่า นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK เข้าข่ายฉ้อโกงเงินเป็นจำนวนหลักกว่า 1,000 ล้านบาท และมีการบริหารงานผิดพลาดจนนำไปสู่ความเสียหาย

ว่ากันว่าหลักฐานเหล่านี้มีการส่งมอบให้ชุดพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไปตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว..!!

ช่วงต้นปี หลังผู้สอบบัญชีไม่รับรองงบการเงิน นั่นทำให้ STARK ไม่สามารถออกหุ้นกู้ชุดใหม่ได้ จนมีปัญหาสภาพคล่องรุนแรง หลักฐานชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่านายชนินทร์พยายามปกปิดปัญหาสภาพคล่องของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ STARK ที่มีปัญหาสภาพคล่อง จนไม่มีเงินจ่ายชำระค่าทองแดง อันเป็นวัตถุดิบในการผลิตสายไฟ มูลค่า 314.34 ล้านบาท

โดยเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 นายชนินทร์มีการโอนเงินจากบัญชีส่วนตัวในต่างประเทศกลับเข้ามาที่ไทย 520.65 ล้านบาท ก่อนที่จะโอนเงินผ่านบริษัทลูกอีกหลายทอดกว่า 5 บริษัท ภายในวันเดียว เพื่อเอาเงินบางส่วนกลับมาชำระหนี้และปกปิดไม่ให้เห็นร่องรอยความเสียหาย จากการบริหารงานที่ผิดพลาดและอาจฉ้อโกงที่กำลังจะแตกออกมา..!!

มีรายงานว่าชนินทร์ให้เลขาฯ ซื้อแคชเชียร์เช็คแบงก์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง 3 ฉบับ

ส่วนแรก ฝากแคชเชียร์เช็คเข้าบริษัท เอ็มเอ็มแคทเทอริ่ง จำกัด จำนวน 220 ล้านบาท

ส่วนที่สอง ฝากแคชเชียร์เช็คเข้าบริษัท เอ็มเอ็ม แคริเออร์ จำกัด จำนวน 50.65 ล้านบาท

ส่วนที่สาม ฝากแคชเชียร์เช็คเข้าบริษัท เอ็มเอ็ม เฟรท ฟอร์เวิร์ดดิ้ง จำกัด จำนวน 250 ล้านบาท

รวมแคชเชียร์เช็ค 3 ฉบับ ที่ฝากเข้า 3 บริษัท มูลค่าทั้งหมด 520.65 ล้านบาท

ว่ากันว่าเงินที่นายชนินทร์ฝากเข้าบริษัท เอ็มเอ็ม แคทเทอริ่ง จำกัด จำนวน 220 ล้านบาท และบริษัท เอ็มเอ็ม เฟรท ฟอร์เวิร์ดดิ้ง จำกัด จำนวน 250 ล้านบาท ถูกโอนต่อไปเข้าที่บริษัท เอเซีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด รวม 470 ล้านบาท

ส่วนเงินจำนวน 50.65 ล้านบาท ที่ฝากเข้าบริษัท เอ็มเอ็ม แคริเออร์ จำกัด ได้ถูกโอนต่อไปเข้าบริษัท ที.ซี.เค.อินเตอร์เนชันแนล จำกัด

วันเดียวกัน บริษัท เอเซีย แฟซิฟิก ดริลลิ่งฯ มีการโอนเงินทั้งหมดต่อไปเข้าบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ จำนวน 524.43 ล้านบาท เพื่อไปชำระหนี้ L/C ค่าทองแดง ของเจ้าหนี้ที่ชื่อ IXM S.A. ที่ถึงกำหนดชำระวันนั้น

ส่วนเงินอีกก้อน บริษัท ที.ซี.เค.อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ได้โอนต่อเข้าไปยัง STARK เพื่อไปชำระเงินกู้ยืมที่ถึงกำหนดชำระ

มีการกล่าวอ้างว่า 3 บริษัทเอ็มเอ็มที่ว่า เป็นบริษัทที่นายชนินทร์ใช้เป็นช่องทางโอนเงินเข้าออก ที่พบว่ามีรายการโอนเงินผิดปกติผ่าน 3 บริษัทที่ว่าอีกหลายรายการ

โดยกรรมการผู้มีอำนาจขณะนั้นคือนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และนางสาวยสบวร อำมฤต

ข้อมูลอีกชิ้นระบุว่า เดือนมกราคม 2566 ก่อนหน้าฝีจะแตก นายชนินทร์ให้ทนายความชื่อ ก. ร่างเอกสารการกู้ยืมเงินระหว่างบริษัท เอแอลที อินเวสต์ แมนเนจเม้นต์ จำกัด ตั้งอยู่บนเกาะบริติช เวอร์จิน กับ 3 บริษัทเอ็มเอ็ม จำนวน 3 ฉบับ รวมเป็นมูลค่า 780 ล้านบาท

แต่ไม่พบว่ามีธุรกรรมการกู้ยืมเงินเกิดขึ้นจริง จึงมีความน่าสงสัยว่าบริษัทบนเกาะบริติช เวอร์จิน มีความเกี่ยวพันอย่างไรกับนายชนินทร์..ด้วยหรือไม่..

นั่นเป็นข้อมูลบางส่วนที่เล็ดลอดออกมาจาก forensic accounting ที่ STARK ส่งให้ดีเอสไอไปแล้ว ดูไปดูมาออกจะแปลก ๆ อย่างไรก็ไม่รู้ซินะ..!?

ว่าแต่ว่าต้องวัดใจดีเอสไอ..จะรอข้อมูลจาก Special Audit จากก.ล.ต.อีกหรือไม่.!?

..อิ.อิ.อิ..

Back to top button