ใครจะลงทุนขุดก๊าซขี่พายุ ทะลุฟ้า

เรื่องราวของปตท.อย่านึกว่าปตท.จะฟ้องร้องเอากับกลุ่ม NGO พวกทวงท่อก๊าซหรือทวงคืนปตท.ถ่ายเดียวนะครับ แต่ NGO ก็มีฟ้องปตท.รวมทั้งผู้บริหารอยู่หลายคดีด้วย


เรื่องราวของปตท.อย่านึกว่าปตท.จะฟ้องร้องเอากับกลุ่ม NGO พวกทวงท่อก๊าซหรือทวงคืนปตท.ถ่ายเดียวนะครับ แต่ NGO ก็มีฟ้องปตท.รวมทั้งผู้บริหารอยู่หลายคดีด้วย

ดังเช่นคดีหนึ่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งน.ส.รสนา โตสิตระกูล ฟ้องหมิ่นประมาทไพรินทร์ ชูโชติถาวร และน.ส.พ.ไทยโพสต์

ก็เป็นการให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ของคุณไพรินทร์แหละครับ

ตอนหนึ่งคุณไพรินทร์พูดว่า “ตอนนี้ ผมกำลังสู้กับคนที่บอกว่าโลกแบน ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าโลกกลม คนที่พูดก็รู้หัวนอนปลายตีนดีอยู่ ก็รู้ความจริงอยู่ แต่จะพูดให้เกิดเฮท สปีชอยู่ จะพูดทำไมให้เกิดความเสียหาย”

ศาลอาญาวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า ขณะนั้นคุณไพรินทร์เป็นผู้นำองค์กร และปตท.ก็ถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จึงมีการตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์ไปบ้าง

แม้จะใช้ถ้อยคำเกินเลยไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

และอีกตอนหนึ่ง คุณไพรินทร์กล่าวแสดงความรู้สึกว่าดีใจมาก ที่คสช.โดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เรียกคู่กรณีคือ คุณไพรินทร์ฝ่ายหนึ่ง และน.ส.รสนาอีกฝ่ายหนึ่งไปชี้แจง

“ที่ผ่านมา เวลาโจมตีผมในสภาฯ ก็เรียกผมไป ด่าผมเสร็จครึ่งชั่วโมงก็ลุกขึ้นไป ไม่เคยนั่งฟังผมชี้แจง แต่วันนั้น เขาต้องนั่งฟังผมพูด เป็นครั้งแรกที่ผมนั่งอธิบายด้วยความสบายใจ แต่พอเสร็จออกไป เขาก็ไปพูดเหมือนเดิม”

ไพรินทร์แฮปปี้ แต่รสนากรี๊ด!

 ศาลฯวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้นำองค์กร มีหน้าที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ ความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์บริษัท

 จึงตอบโต้การวิจารณ์ของโจทก์ได้ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ ก็ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหายเพราะถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนทั่วไปที่อ่านบทความการให้สัมภาษณ์ของจำเลย

พิพากษยกฟ้อง คดีของโจท์ไม่มีมูลที่จะประทับฟ้องไว้

ครับ เรื่องราววิวาทะระหว่างปตท.กับ NGO หรือบางทีก็เรียกตัวเองว่าเป็นภาคประชาชน มันเป็นมหากาพย์ไปแล้ว ก็คงจะมีการศึกปะทะกันไปอีกหลายศึก ไม่มีทางจบลงไปได้ง่ายๆหรอก

คนหนึ่งพูดด้วยข้อเท็จจริง ส่วนอีกคนหนึ่งพูดด้วยความรู้สึก หรือคนหนึ่งเชื่อว่าโลกกลม ส่วนอีกคนหนึ่งเชื่อว่าโลกแบน ความต่างขั้วเช่นนี้ คงจะหาทางยุติลงได้ยาก

แต่ที่ไม่สนุกเอาเสียเลยก็คือ ประเทศชาติเสียโอกาสและเสียประโยชน์

เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ21 ที่ชักเย่อกันมา ระหว่างแนวคิดของภาคประชาชน NGO กับทางฝั่งกระทรวงพลังงานและปตท.ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยื้อกันมาสุดเหวี่ยงไม่จบสิ้น

ฝ่าย NGO จะเอาระบบแบ่งปันผลผลิต (PCS) บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า แหล่งปิโตรเลียมของเรา มีปริมาณสำรองในระดับสูง จึงควรใช้วิธีลงทุนร่วมกับบริษัทขุดเจาะสำรวจ

ผลประโยชน์ที่ได้ ก็เอามาแบ่งปันตามสัดส่วน จึงจะเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติ แม้จะต้องเสี่ยงร่วมลงทุน แต่ก็คุ้มค่ากว่า

ส่วนฝ่ายกระทรวงพลังงาน ยึดเอาระบบสัมปทาน ซึ่งขณะนี้พัฒนามาเป็นระบบ “ไทยแลนด์ 3” แล้ว บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า แหล่งปิโตรเลียมในทะเลของไทย มีลักษณะเป็นกะเปลาะเล็กกะเปลาะน้อย กระจัดกระจายไปทั่ว

หลุมใหญ่น่ะ ถูกค้นพบไปแล้วตั้งแต่สัมปทานรอบที่1(ราวปี2527) เหลือแต่กะเปลาะเล็กกระจายตัวดังว่า

ฉะนั้น การจะลงทุนเองก็ย่อมต้องแบกรับความเสี่ยง ที่อาจขุดไปเจอหลุมแห้ง หรือมีปริมาณสำรองแค่เล็กน้อย ไม่คุ้มค่า

ในทางตรงกันข้าม การจะไปตั้งเงื่อนไขสูงกับเอกชน ก็อาจเป็นการ  ไล่แขก” ไม่จูงใจให้ใครเข้ามาลงทุนเลย

คิดดังนี้ ก็จึง”เพลย์ เซฟ”ไว้ก่อน โดยยึดหลักสัมปทาน”ไทยแลนด์3” ซึ่งรัฐมีรายได้จากค่าภาคหลวงแบบขั้นบันได ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ซึ่งจัดเก็บแบบก้าวหน้า ตามปริมาณการผลิตและราคาปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น

หากการขุดเจาะล้มเหลว รัฐไทยก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

ถามสักคำหน่อยเถอะครับ ราคาน้ำมัน-ราคาก๊าซในตลาดโลกเวลานี้ มันจูงใจให้มีการขุดเจาะสำรวจหรือครับ

ราคาคาน้ำมันดิบคงจะยืนใต้40เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลอีกยาวนาน แม้ขุดเจาะขึ้นมาได้ ก็ยังต้องขายขาดทุนอยู่ดี บริษัทขุดเจาะ สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม  ต้องปรับลดเลิกจ้างพนักงานหรือปิดกิจการลงเป็นอันมาก

ขืนเล่นตัวมาก เช่นจะยื้อเอาระบบแบ่งปันผลผลิต ก็คงได้รับประทานแห้วกันยาวนานแน่

Back to top button