วิกฤติหุ้นกู้..วิบากกรรมบจ.

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อนตั๋วแลกเงิน “ตั๋ว B/E” ตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 270 วัน ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่เหล่าบริษัทจดทะเบียนใช้ระดมทุนจากบรรดานักลงทุนต่าง ๆ


ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อนตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange )หรือ“ตั๋ว B/E” ตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 270 วัน ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่เหล่าบริษัทจดทะเบียนใช้ระดมทุนจากบรรดานักลงทุนต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ๆ มีการจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ย ที่นักลงทุนเห็นแล้วยากที่จะปฏิเสธ

นั่นจึงทำให้ “ตั๋ว B/E” กลายเป็นที่นิยมในหมู่บริษัทจดทะเบียนและนักลงอย่างกว้างขวาง..!!

แต่บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น PICNI (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP) ไม่สามารถไถ่ถอนตั๋ว B/E ได้ตามกำหนดจนเป็นเหตุให้กระทบไปสู่ตั๋ว B/E ที่ออกโดยบริษัทต่าง ๆ และหลายบริษัทมีการผิดนัดชำระตั๋ว B/E หลังจากนั้นก็เกิด “วิกฤติตั๋ว B/E” สร้างความผู้เสียหายต่อนักลงทุนจำนวนมาก..

แหละนั่นทำให้ “ตลาดตั๋ว B/E” เกิดฟองสบู่แตก..หลังเฟื่องฟูในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก 

การดับสลายลงของ “ตลาดตั๋ว B/E” ถือเป็นการแจ้งเกิด “ตลาดหุ้นกู้ (Debenture)” ที่เข้ามาทดแทนตั๋ว B/E ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

นั่นทำให้ตัวเลขช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ มีการออกหุ้นกู้รวมกว่า 8.3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะปี 2565 ที่ผ่านมา มีการออกหุ้นกู้มูลค่ามากถึง 2 ล้านล้านบาท 

เห็นได้ชัดว่าบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ใช้ “หู้นกู้” เพื่อแก้ไขสภาพคล่อง, รีไฟแนนซ์และต่อยอดธุรกิจช่วงที่สถาบันการเงินต่างเข้มงวดในการปล่อยเงินกู้ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

แต่นับจากต้นปีที่ผ่านมา “ตลาดหุ้นกู้” เริ่มสั่นคลอนมากขึ้น..เมื่อบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK มีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด 5 รุ่น มูลค่ากว่า 9,198 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นกู้กว่า 4,500 รายและผู้ถือหุ้นหลายกลุ่มอยู่ระหว่างการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับ STARK โดยคดีแรกจะเริ่มมีสืบพยานช่วงปลายเดือน เม.ย. 67 เป็นต้นไป

กรณีหุ้นกู้ STARK เป็นที่ฮือฮาน่าจับตามากสุดโดยเฉพาะกรณีมีการกระจายให้นักลงทุนรายย่อยได้อย่างไร เพราะเงื่อนไขระบุชัดเจนว่า..ขายให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เพียงเท่านั้น

ตามมาด้วยบริษัท ออลล์อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL (จำนวน 7 รุ่น) มูลค่าหนี้คงค้างรวม 2,334 ล้านบาท 

อีกล็อตใหญ่บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP (จำนวน 7 รุ่น) มูลค่าหนี้คงค้างรวม 2,575.38 ล้านบาท และบริษัทยื่นขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ด้วยพิจารณาว่าบริษัทยังขาดความชัดเจนในประเด็นหลักเรื่องช่องทางการฟื้นฟูกิจการ

ตามด้วยหุ้นฉาวอย่างบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC (จำนวน 1 รุ่น) มีมูลค่าหนี้คงค้าง 3,000 ล้านบาท ส่วนบริษัท เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ APEX (จำนวน 1 รุ่น) มีมูลค่าหนี้คงค้าง 765 ล้านบาท

ล่าสุดกำลังเป็นฮือฮาอยู่ขณะนี้คือบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN (จำนวน 1 รุ่น) มีมูลค่าหนี้คงค้าง 609.98 ล้านบาท โดย JKN ระบุว่า ไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้วันครบกำหนดไถ่ถอนทั้งหมดได้และมีการชำระเงิน 156.60 ล้านบาท คงเหลือยอดค้างชำระ 443.40 ล้านบาทและมีการจัดประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้วันที่ 29 ก.ย. 66

ข้อมูลบนเว็บไซต์สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เกี่ยวกับ “หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระ” (Default Payment) สิ้นสุด 31 ส.ค. 66 มีอยู่ทั้งหมด 7 บริษัท (จำนวน 23 รุ่น) มูลค่ากว่า 19,039 ล้านบาท

แต่หากดูจากงบการเงินบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ..มีความเป็นไปได้ที่จะมีบริษัทอีกหลายที่ต้องเผชิญกับ “การผิดนัดชำระหุ้น” ด้วยเช่นกัน

จาก “วิกฤติหุ้นกู้” ดังกล่าว ทำให้ความต้องการซื้อและความเชื่อมั่นของนักลงทุนกับ “ตลาดหุ้นกู้” ลดลง

แหละนั่นหมายถึง “วิบากกรรมบริษัทจดทะเบียน” ที่ต้องพึ่งพาเครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือรีไฟแนนซ์..มีอันต้องทำได้ยากยิ่งขึ้น..หรือต้องแลกด้วยต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้..!!

Back to top button