M&A ญี่ปุ่นเติบโตสวนทางโลก

ช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา การควบรวมหรือซื้อกิจการ และการร่วมทุน เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก


ช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา การควบรวมหรือซื้อกิจการ (Merger & Acquisition: M&A) และการร่วมทุน (Joint Venture: JV) เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกและถือเป็นทางลัดของการขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดด

จากข้อมูล LSEG (London Stock Exchange Group) พบว่า ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มูลค่าสุทธิการทำธุรกรรม M&A ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เติบโต 14% จากช่วง 9 เดือนแรกปีก่อนสู่ระดับ 111,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศญี่ปุ่น เป็นเพียงตลาดหลักแห่งเดียวของโลกที่ทำสถิติเติบโตได้

เนื่องจากการปรับโครงสร้างบริษัทที่มีมากขึ้น การขายหุ้นบริษัทบางส่วนให้นักลงทุน การเข้าซื้อกิจการโดยผู้บริหาร (Management Buyout) ทำให้ญี่ปุ่นเป็นที่นิยมสำหรับการลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private equity) ทั่วโลก โดยโมเมนตัมนี้จะดำเนินต่อไปช่วงระยะสั้น เนื่องจากโอกาสการปรับโครงสร้างองค์กร การแยกส่วนและการซื้อกิจการด้านการจัดการเพิ่มมากขึ้น

โดยธุรกรรม M&A ของญี่ปุ่นโดดเด่น ท่ามกลางการลดลงทั่วโลกช่วงปี 2566 จากข้อตกลงในประเทศ ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ประกอบกับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น และแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นที่กดดันบริษัทต่าง ๆ ให้สำรวจทางเลือกเชิงกลยุทธ์

David Gross-Loh หุ้นส่วนผู้จัดการ Bain Capital Asia ระบุว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกำลังดำเนินไปได้ค่อนข้างดี และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยประเภทนี้กระตุ้นให้ผู้ก่อตั้งและผู้ที่มีกรรมสิทธิ์กระจุกตัวพิจารณาขาย และช่วงอีก 6-12 เดือนข้างหน้าจะมีโอกาสข้อตกลงมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเกิดขึ้น

โดยข้อตกลงในประเทศ รวมถึงการซื้อหุ้นภาคเอกชนของโตชิบาและ JSR ที่มีมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 67% เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

Shinsuke Tsunoda กรรมการผู้จัดการอาวุโสและนายธนาคาร M&A ของ Nomura Securities ระบุว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากลำบากขึ้น ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและแรงกดดันต่ออัตรากำไรทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับการดำเนินการที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงการควบรวมกิจการกับคู่แข่ง

“เมื่อต้องเผชิญกับค่าจ้างสูงขึ้นรวมถึงต้นทุนวัสดุและพลังงานสูงขึ้น บริษัทต่าง ๆ จึงมีความจริงจังมากขึ้นเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างธุรกิจในประเทศ”

จากการควบรวมกิจการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินเยนอ่อนค่า โดยต้นสัปดาห์ก่อนอ่อนลงต่ำกว่าระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 150 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าสุดรอบปี และอัตราดอกเบี้ยต่ำในญี่ปุ่น เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการทำข้อตกลงดังกล่าว

ทั้งนี้ตลาด M&A ที่แข็งแกร่ง มาพร้อมกับอุปสรรค 2 ประการ ที่มีมายาวนานต่อข้อตกลงของญี่ปุ่น คือ การไม่เต็มใจที่จะเข้าครอบครองโดยไม่พึงประสงค์ และความยากลำบากเกี่ยวกับการเลิกจ้างพนักงาน ที่ทับซ้อนกันในการรวมกิจการที่เกิดขึ้น

บรรดานายธนาคารหลายคน ประเมินว่า แรงกดดันสำหรับบริษัทจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยมีมาในอดีต นับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวของญี่ปุ่น ได้จัดแสดงแผนงานครั้งสำคัญเพื่อเสริมประสิทธิภาพของตลาดทุน ที่ไม่ได้มีขึ้นบ่อยนัก กับการลงคะแนนเสียง ที่มีประสิทธิภาพเรื่องของความเชื่อมั่น สำหรับกลุ่มผู้ถือหุ้น นักเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง.!!

นั่นจึงเป็นมูลเหตุให้ M&A ญี่ปุ่นเติบโตสวนทางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้..!!

Back to top button