5 เรื่อง ที่ ‘เศรษฐา’ ควรเร่งดำเนินการ เพื่อตลาดทุน

เรื่องเด่น-ประเด็นร้อน ของ “เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ที่มีความต้องการจะสนับสนุนตลาดทุน


เรื่องเด่น-ประเด็นร้อน ของ “เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ที่มีความต้องการจะสนับสนุนตลาดทุน

ในฐานะอดีตผู้บริหารและ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ที่ได้รับโอกาสและความมั่งคั่งจากตลาดทุนมายาวนาน กลับมีความคิดที่เป็นได้แค่ “เซลส์แมน” นักขายความเชื่อมั่น ดังที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้จริง ๆ

เนื่องด้วยจากสถานการณ์เม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ ได้ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องมาตลอด 8-9 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ต้นปี 2566 มากกว่า 1.6 แสนล้านบาท นั้น เกิดจากความเชื่อว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า จึงทำให้มีการทยอยย้ายเงินออกอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาใหญ่ตรงนี้ คือ 1.ไม่มีสินค้าที่ดึงดูดหรือ เหนี่ยวรั้งให้คงอยู่ของเม็ดเงินของต่างชาติ

2.ความเสี่ยงของสภาพคล่อง ที่ไม่ค่อยหมุนเวียน และถือเป็นตลาดขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของปีนี้ ลดลงเหลือเพียงแค่ 5.5-5.6 หมื่นล้านบาทต่อวัน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ช่วงปี 65 อยู่ที่ 7.5-7.6 หมื่นล้านบาทต่อวัน และถือว่าลดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 ระบาดหนักในปี 64 อยู่ที่ระดับเกิน 9 หมื่นล้านบาทต่อวัน 

ความน่าสนใจที่ทำให้วอลุ่มซื้อขาย หดหายไปคือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ที่มีต่อหุ้นไทย 

ในเมื่อ “สินค้า” ที่ไม่ได้รับความสนใจจาก “ผู้ซื้อ” สิ่งที่  “เศรษฐา ทวีสิน” ควรคิดวิเคราะห์ (แต่ไม่ต้องแยกแยะ) ในฐานะเคยเป็น “เซลส์แมนขายบ้าน” มาก่อน ต้องตระหนักคือ การเพิ่มสินค้าตัวใหม่ ๆ ตามความต้องการของลูกค้า หรือผู้ซื้อ 

“ไม่ใช่ไปขยายเวลาเทรดเพิ่ม” ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องรีบเร่งในตอนนี้ 

“ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด”

ยกตัวอย่าง บ้าน-คอนโด ที่เปิดขายมาแล้ว คนไม่จองกัน การจะขยายเวลาจองเพิ่ม ก็คงไม่ช่วยอะไร เพราะแรงจูงใจที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของมันไม่มีตั้งแต่แรก

จะด้วยทำเลที่ตั้ง หรือ สิ่งสาธารณูปโภคแวดล้อม รวมถึง อนาคตซื้อไปแล้ว ก็ไม่น่าสดใส หรือมีแวลูที่เพิ่มมากขึ้น ต่อให้ขยายเวลาขายไปมากแค่ไหน ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนสิ่งที่เป็นความน่าสนใจใหม่ ๆ เข้ามา ยิ่งจะเป็นการประจานมากกว่า ที่ทำอสังหาฯ ขึ้นมาแล้วขายไม่ออก

สิ่งที่ “เศรษฐา” ควรรีบทำเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตลาดหุ้น คือ 1.ควรหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใหม่ที่มีความรู้เรื่อง ตลาดเงิน-ตลาดทุน มาดูแลโดยตรง 

พรรคเพื่อไทย มีคนที่เก่งเรื่องเศรษฐกิจและการเงิน อยู่หลายคน การที่จะให้คนเหล่านั้นมาช่วยแบกภาระของ การเป็นนายกรัฐมนตรี ของ “เศรษฐา” ถือเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นการโฟกัส ของ “เศรษฐา” ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนจะหลุดและถูกมองข้ามไป 

ถ้าไม่นับเรื่อง แต่งตั้ง ผบ.ตร.-การต้องลงไปดูเรื่องคนร้ายที่เป็นเยาวชน ไปยิงเหยื่อในห้างสยามพารากอน ฯลฯ ที่เป็นเรื่องสำคัญ ๆ ที่นายกฯ ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง

 2.หาสินค้าใหม่เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นแบบเร่งด่วน โดยเฉพาะ การสั่งให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatisation) นอกจากนี้จะดึงดูดความน่าสนใจของต่างชาติแล้ว ยังทำให้การทำงานของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอีก แถมยังช่วยลดหนี้สาธารณะอีกด้วย

3.นำนโยบายลดภาษีนิติบุคคล สำหรับเอกชน ที่ต้องการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น จากเดิมที่เคยใช้อยู่เมื่อนานมาแล้วกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

ข้อดีจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ลดการหลบเลี่ยงภาษี หรือทำบัญชีสองเล่มของเอกชน

4.การสนับสนุนกองทุนประกันสังคม ให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน 

ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 กองทุนประสังคม ได้ช่วยเหลือรัฐบาล โดยเข้าไปช่วยเหลือให้ผู้ประกันตน หรือประชาชนที่ส่งเงินเข้ากองทุนดังกล่าวรายเดือนได้รับการช่วยเหลือจากค่ารักษาพยาบาล และการลาออก จากการปิดกิจการของนายจ้างในช่วงนั้น

โดยกองทุนประกันสังคม ได้ขายหุ้นและนำเงินดังกล่าวไปช่วยเหลือ ผู้ประกันตน ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาระรัฐได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่มาก แต่ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

การกลับมาทำให้กองทุนประกันสังคม แข็งแรงกว่าเดิม นอกเหนือจากการหาเงินสำรองเอาไว้เตรียมรับมือ กับ “โรคภัย” ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เหมือน “โควิดภาค 2” ในอนาคต 

โดยให้เอกชนหักส่วนหนึ่ง และรัฐบาลเพิ่มเข้าไปให้มากกว่า 1-1.5 เท่า แบบนี้ถือเป็นการให้สวัสดิการที่ดีเพื่ออนาคต ดีกว่า การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเสียอีก

พอกองทุนประกันสังคม มีเงินเข้ามา ก็สามารถเอาเข้าไปพักในตลาดหุ้นได้ เพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุน ในทางกลับกันจะได้มีแรงรับ เวลาต่างชาติเทขายหุ้น หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ลดการยืมจมูกต่างชาติหายใจ”

5.ดึง LTF-RMF กลับมา เพื่อให้พนักงานบริษัทสามารถออมเงิน และได้รับผลตอบแทนหลังเกษียณ หรือลาออก เหมือนข้าราชการ ที่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

โดยในอดีต ปลายปีจะมีเงินจาก LTF เข้ามาซื้อหุ้นประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท เป็นอย่างน้อยทุกปี ทำให้ตลาดหุ้นมีเสถียรภาพและช่วยถ่วงดุลแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งหมด 5 ข้อนี้ เป็นแค่ไอเดียเบื้องต้น ที่ควรจะต้องรีบเร่งจัดการ ดีกว่าไปโฟกัสการขยายเวลาเทรด

ยิ่งตอนนี้อยู่ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีศรัทธาจากนักลงทุนต่างชาติแล้ว การเพิ่มเวลาเทรดจะเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดพังลงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงตลาดขาลงแบบนี้ทั่วโลก

Back to top button