หุ้นไทย / อิสราเอล-ฮามาส

ช่วงเย็นวานนี้ (18 ต.ค.) ทีมกลยุทธ์ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ได้ทำการศึกษาผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อดัชนีตลาดหุ้น 5 ดัชนี รวมถึงไทย


ช่วงเย็นวานนี้ (18 ต.ค.) ทีมกลยุทธ์ บล.กรุงศรี พัฒนสิน

ได้ทำการศึกษาผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในปี 2022 ต่อดัชนีตลาดหุ้น 5 ดัชนี รวมถึงไทย

และนำมาเปรียบเทียบกับกรณีสงครามอิสราเอล-ฮามาส ด้วยสมมติฐานว่าภาวะสงครามมีความสัมพันธ์เชิงลบกับผลตอบแทนของตลาดหุ้น

วิธีการนั้น คือ ใช้วิธีวัดความสนใจของโลกออนไลน์ในประเด็นดังกล่าวผ่านการค้นหา Keyword สำคัญ

ได้แก่ Russia, Vladimir Putin, Israel จากเว็บไซต์ Wikipedia (ข้อมูลจาก https://www.wikishark.com/)

ทั้งนี้ เพื่อประเมินช่วงเวลาที่คนทั่วโลกให้ความสนใจต่อประเด็นดังกล่าว (ใช้เป็นตัวแทนความสนใจของนักลงทุนในตลาดหุ้นโลก) และพบว่า

1.ตลาดให้ความสนใจต่อความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราว 4 สัปดาห์

โดยความสนใจต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน นั้น จะมีการค้นหาราว 4 สัปดาห์ ก่อนที่การค้นหาจาก Keyword สำคัญ (ใช้คำว่า Russia และ Vladimir Putin) จะเข้าสู่ระดับปกติก่อนการเข้าบุกยูเครนของรัสเซียในวันที่ 24 ก.พ. 2022

2.ตลาดตอบรับเชิงลบต่อภาวะสงครามเต็มที่ราว 2 สัปดาห์

ผลตอบแทนของ 5 ดัชนีที่นำมาศึกษา ได้แก่ MSCI ACWI, MSCI EU, MSCI EM, S&P500 และ SET Index พบว่ามีแนวโน้มปรับตัวลงในช่วง 2 สัปดาห์แรก หลังเหตุการณ์ (24 ก.พ. 2022)

และเริ่มฟื้นตัวในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4

สถิติดังกล่าวสะท้อนว่าตลาดใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ในการซึมซับปัจจัยลบ

3.การเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง หลังเกิดภาวะสงครามแล้ว 2 สัปดาห์ มักเป็นจุดซื้อลงทุนที่ดี

ผลตอบแทนหากเข้าลงทุนในดัชนีทั้ง 5 หลังเกิดเหตุการณ์ได้ 2 สัปดาห์ พบว่าให้ผลตอบแทนเป็นบวกดีที่สุดในช่วง 2 สัปดาห์ และ 1 เดือนหลังการเข้าซื้อ

โดยผลตอบแทนเฉลี่ย 2-4.5% และ 2.5-5.8% ตามลำดับ

4.จำนวนการค้นหาเกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส มีรูปแบบคล้าย ๆ การค้นหาช่วงสงครามรัสเซียยูเครน

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนการค้นหา Keyword สำคัญ ระหว่างกรณี สงครามรัสเซีย-ยูเครน (ใช้ Keyword: Russia, Vladimir Putin) และ อิสราเอล-ฮามาส (ใช้ Keyword: Israel)

และพบว่าในสัปดาห์ที่ 2 ปริมาณการค้นหาลดลงมาเหลือราว 30-40% จากจุดสูงสุดคล้ายคลึงกัน

ภาพดังกล่าวสะท้อนว่าช่วงเวลาที่ตลาดให้ความสนใจกับประเด็นสงครามอิสราเอล-ฮามาส อาจใกล้เคียงกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือราว ๆ 4 สัปดาห์

ในเชิงกลยุทธ์นั้น

กรุงศรี พัฒนสิน เปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันระหว่าง 2 เหตุการณ์สงครามล่าสุด

พร้อมกับคาดว่าผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นโลกจากภาวะสงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะรุนแรงที่สุดในสัปดาห์นี้ (13-20 ต.ค. 2023) ก่อนที่จะค่อย ๆ น้อยลงในสัปดาห์ถัดไป

ในกรณีที่ไม่มีพัฒนาการเชิงลบที่สำคัญเกิดขึ้น

เนื่องจากความสนใจต่อประเด็นดังกล่าวที่ค่อย ๆ จางลง

ปลายสัปดาห์นี้น่าจะเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน

และคาดหวังผลตอบแทนในช่วง 2-2.5% สำหรับตลาดหุ้นไทยจากการถือครอง 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน 

ส่วนคำแนะนำหุ้นเด่นประจำเดือน ต.ค. ยังคงเป็น

บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT

บมจ.ซีพีออลล์ หรือ CPALL

บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW

บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF

บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL

บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP

และบมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP

Back to top button