อินเดียโตมากกว่าจีน

ปลายเดือน ก.ค. 66 ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 6.1% เป็น 6.3%


ปลายเดือน ก.ค. 66 ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 6.1% เป็น 6.3% และมีการคงตัวเลขดังกล่าวไปจนถึงปีหน้า จากปัจจัยการบริโภคในประเทศ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการจดจัดตั้งธุรกิจที่มากขึ้น

“การปรับตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว มาจากการเติบโตที่แข็งแกร่งช่วงไตรมาส 4/65 ขับเคลื่อนโดยการลงทุนในประเทศ และคาดการณ์การเติบโตของอินเดียปี 2567 อยู่ที่ 6.3%”

อย่างไรก็ดี IMF คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้อยู่ที่ 3% และปีหน้า 2.9% จากปัจจัยการฟื้นตัวจากโควิด-19 ตัวเลขเงินเฟ้อและสงครามยูเครน ที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เตือนถึงปัญหาเงินเฟ้อและสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ที่กระทบต่ออินเดีย ที่จะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้อินเดียไปไม่ถึงตัวเลขเป้าหมายดังกล่าว

“นีเลช ชาห์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทจัดการสินทรัพย์โคตัค มาฮินดรา ให้ความเห็นว่า “นโยบายจีน+1” จะผลักดันการย้ายฐานการผลิตจากจีน อย่างไรก็ตามจากคลื่นความร้อนและสภาพอากาศแห้งแล้ง ส่งผลให้น้ำในเขื่อนทางใต้อินเดียลดลงนั่นส่งผลกระทบภาคการเกษตร ที่สำคัญอินเดีย ต้องนำเข้าน้ำมันเพื่อการบริโภคถึง 80% ทำให้กระทบต่อเงินเฟ้อและดุลการค้าได้อีกเช่นกัน 

การปรับคาดการณ์ของ IMF เป็นการตอกย้ำแสงสว่างทางเศรษฐกิจของโลก ที่เกิดขึ้นเมื่อจีนเสื่อมถอย และพยายามที่จะสะท้อนถึงโมเมนตัมการเติบโตที่ไม่แน่นอน และพยายามรักษาสมดุลของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

โดย IMF คาดการณ์ว่าจีนเศรษฐกิจปีนี้จะเติบโต 5.2% และปีหน้า 4.5% แม้การคาดการณ์จะไม่เปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มเดือน เม.ย. 66 แต่ขณะนี้ IMF ประเมินว่าการเติบโตของจีน จะได้รับแรงหนุนจากการบริโภค เป็นการชดเชยการลงทุนที่ด้อยประสิทธิภาพ จากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ผู้นำระดับสูงของจีนให้คำมั่นว่า จะปรับและเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายในเวลาที่เหมาะสม สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหา

ขณะที่ยกระดับการจ้างงานที่มั่นคงไปสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ และให้คำมั่นที่จะกระตุ้นอุปสงค์การบริโภค ภายในประเทศและแก้ไขความเสี่ยงด้านหนี้สินในประเทศ

โดย IMF ประเมินว่า อินเดียและจีน จะขับเคลื่อนการเติบโตในเอเชียเกิดใหม่และกำลังพัฒนา ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโต ปีนี้ 5.3% และปีหน้า 5% โดยปรับลดการคาดการณ์ภูมิภาคปี 2567 ลง 0.1%

ขณะที่การเติบโตของญี่ปุ่น ปีนี้คาดว่าจะแตะที่ระดับ 1.4% สะท้อนถึงการปรับขึ้นเล็กน้อย 0.1% เนื่องจากความต้องการที่ถูกกักและนโยบายผ่อนปรนของโตเกียว รวมถึง IMF คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น จะชะลอตัวลงเหลือ 1.0% ช่วงปี 2567 เนื่องจากปัจจัยกระตุ้นที่ผ่านมาลดน้อยลง

ทั้งนี้ IMF เพิ่มการคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกปี 2566 ขึ้น 0.2% เป็น 3.0% เพิ่มขึ้นจาก 2.8% ตัวเลขดังกล่าว เน้นย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น การออมของภาคครัวเรือนในสหรัฐฯ ที่หมดลงและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ตื้นกว่าที่คาดในจีน จากการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของโควิด-19

นั่นจึงทำให้ IMF คงประมาณการการเติบโตปี 2567 ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 3%

Back to top button