หุ้นราชาเงินผ่อนยังคงมีความเสี่ยงสูง

ชะตากรรมของหุ้นสินเชื่อส่วนบุคคลหรือ consumer finance ที่ผูกพันเข้ากับหนี้ภาคครัวเรือนยังคงถูกประเมินจากนักวิเคราะห์


ชะตากรรมของหุ้นสินเชื่อส่วนบุคคลหรือ consumer finance ที่ผูกพันเข้ากับหนี้ภาคครัวเรือนยังคงถูกประเมินจากนักวิเคราะห์ว่ายังคงมีความสามารถทำกำไรและเติบโตได้ต่อไปแม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญอยู่จากต้นทุนการเงินที่สูงค่าขึ้น และราคาขายสินทรัพย์ที่ยึดมาจากลูกค้าที่เป็นราชาเงินผ่อนจะมีแนวโน้มลดลง

แต่ชะตากรรมของบริษัทที่ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของตลาดก็ยังได้รับการประเมินว่าจะยังมีกำไรต่อไปตราบใดที่ราชาเงินผ่อนของไทยจะยังคงต้องการสภาพคล่องของตลาดนี้ต่อไป

ราคาหุ้นของบริษัทจึงได้รับการชี้นำจากนักวิเคราะห์ให้ซื้อโดยเฉพาะธุรกิจบัตรเครดิตอย่าง KTC

ที่ยังมีการคาดเดาการเติบโตเอาไว้ในปี 2567 ที่ระดับสูงถึง 15% จากความสามารถในการคุม NPL ไว้ได้ระดับเดียวกับปีก่อนที่ 2.2% แม้จะยังเป็นช่วงตลาดขาลงจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นลูกค้าเงินเดือนสูง และมีอำนาจจับจ่ายมากขึ้น โดยผู้บริหารก็ยังคงยึดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “สินเชื่อพี่เบิ้ม” เป็นเรือธงดันกำไรปีนี้ที่คาดว่าจะทำนิวไฮโดย leverage ผ่านช่องทางสาขา KTB กว่า 1 พันสาขา แต่การปรับราคาเป้าหมายของหุ้นลงมาที่ 50 บาท สะท้อนภาพเศรษฐกิจเติบโตชะลอตัวกว่าคาด แต่ราคายังมี upside และคาดว่ากำไรสุทธิปลายปีนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่าปีก่อนมากกว่า 7,295 ล้านบาท

ตลาดต่อไปที่น่ากังวลคือตลาดไมโครไฟแนนซ์ ที่บริษัทรายใหญ่อย่างบมจ.เมืองไทย แคปปิตอล MTC และ SAWAD ครองส่วนแบ่งตลาดอย่างเหนียวแน่นมายาวนานและดูเหมือนว่าทั้งสองค่ายเตรียมรับมือกับความผันผวนของตลาดมาอย่างดี

และบริษัท MTC เตรียมนำเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นกู้ 4,000 ล้านบาท ไปชำระคืนหนี้จากการออกหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อขยายกิจการของบริษัทฯ ที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 20% พร้อมคุม NPL ให้ลดลงต่ำกว่า 3.20% โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำได้ตามแผน

ส่วน SAWAD มองภาพรวมว่าการแข่งขันปีนี้จะลดลง เพราะคู่แข่งขันรายย่อยออกจากตลาดหลังจากการแข่งขันอย่างหนักในช่วงปีก่อน คาดว่าปีนี้การบริหารจัดการจะทำได้ดีขึ้นไม่ต้องแข่งขันให้ค่าคอมมิชชั่นสูงเหมือนปีก่อน เชื่อว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปได้มาก ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโต 20% และคุม NPL ให้น้อยกว่า 3%

ในกรณีของบริษัทขนาดย่อยอย่างบริษัทปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ ECL ที่กำไรลดลงกว่า 40% ในปีที่ผ่านมาเนื่องจากต้นทุนของการบริหารลูกค้าและ NPL ที่เพิ่มขึ้นกว่า 40% และคาดว่าปีนี้จะแย่กว่าปีที่ผ่านมาอีก สะท้อนถึงโครงสร้างปลาใหญ่กินปลาเล็กอย่างชัดเจน

Back to top button